โรงงานอาหารสัตว์เฮ พาณิชย์-เกษตร ไฟเขียว ยกเลิกมาตรการ 3 : 1 ชั่วคราว

15 มี.ค. 2565 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2565 | 22:14 น.

โรงงานอาหารสัตว์เฮ ก.พาณิชย์ ไฟเขียว ยกเลิก มาตรการ 3 : 1 ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนชั่วคราว ถึง 31 ก.ค. ระบุจะมีการกำหนดโควตานำเข้าต่อไป ด้านปลัดเกษตรฯ ย้ำพิจารณารอบคอบแล้ว ยันไม่ส่งผลกระทบเกษตรกร

2 ปลัด เกษตร-พาณิขย์"

 

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์   แถลงผลการหารือร่วมกับ ดร.ทองเปลว  กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงสถานการณ์วัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ (ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง)ที่มีราคาสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 12-13 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ ภาคปศุสัตว์ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์มีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก

 

กระทรวงพาณิชย์จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือเพื่อเสนอความคิดเห็น ได้ข้อสรุปที่สำคัญคือให้มีการชะลอมาตรการกำหนดสัดส่วนการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนก่อนนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรการ 3 ต่อ 1)ของกระทรวงพาณิชย์ไว้ชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565

 

ทั้งนี้ทุกฝ่ายได้ห็นพ้องต้องกันในหลักการว่า จะผ่อนคลายมาตรการตรงนี้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะถึงฤดูกาลผลิตข้าวโพด จะช่วยทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลง สามารถนำเข้าข้าวสาลีเข้ามาได้ โดยไม่ต้องซื้อข้าวโพดเป็นการชั่วคราว ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องมาคุยกันว่า ปริมาณข้าวสาลีที่จะนำเข้ามาจะต้องไม่เกินเท่าไร เพื่อที่จะไม่ให้กระทบต่อพี่น้องเกษตรกร

 

 

ทองเปลว กองจันทร์

 

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะมีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนคือ 1. ปริมาณที่จะนำเข้าข้าวสาลี มีทั้งหมดกี่ตัน แล้ววัตถุดิบในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ข้าวโพด หรืออื่น ๆ ที่มีในประเทศที่จะมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์มีเท่าไร ดังนั้นจะไม่กระทบเกษตรกรแน่นอน โดยเฉพาะผู้ปลูกข้าวโพดหลังนา  เพราะได้นำตัวนี้มาเป็นตัวตั้งด้วย

 

2. พอถึงเดือนสิงหาคม ข้าวโพดที่ปลูกในช่วงนี้ก็จะให้ผลผลิตออกสู่ตลาด จะสั่งให้หยุดนำเข้า 

 

ข้าวโพดลี้ยงสัตว์

 

ส่วนเรื่องราคาปุ๋ยที่มีราคาสูงขึ้นนั้น กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันหามาตรการที่จะช่วยในเรื่องดังกล่าว โดยพิจารณาในเรื่องต้นทุนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับราคาปุ๋ยสูงขึ้น ก็จะหาช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยได้ในราคาถูกได้ โดยกระทรวงเกษตรฯ มีโครงการลดราคาปุ๋ยเคมี โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้ 5 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีการผลิตประมาณ 3.2 ล้านตัน เพื่อเป็นมาตรการเสริมใช่ช่วงปุ๋ยแพงต่อไป

 

ส่วนในประเด็นเรื่องการส่งออกผลไม้ของไทยนั้น ในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งสองกระทรวง ได้ร่วมหารือถึงตลาดส่งออก โดยตลาดส่งออกสำคัญคือจีน ได้ให้ทูตเกษตรฯ ได้ประสานงานกับหน่วยงานของจีนอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันจีนยังคงยึดมาตรการ Zero Covid โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในจีนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนมีมาตรการควบคุมทั้งคนและการขนส่งสินค้าอย่างเข้มงวด

 

สำหรับมาตรการของจีนเป็นมาตรการทั้งระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่นซึ่งแตกต่างกันไปตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ โดยสินค้าที่ขนส่งผ่านห่วงโซ่ความเย็น เช่น ผลไม้ จะต้องถูกตรวจ 3 อย่าง และต้องได้รับใบรับรอง ได้แก่ ใบรับรองผ่านตรวจสอบกักกัน ใบรับรองผลตรวจโควิด และใบรับรองการผ่านการฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลไม้ของไทยสามารถส่งออกไปจีนได้