นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศ ปัจจุบันถือว่าทรงตัวและคาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น หลายประเทศเริ่มมองไปในแนวทางเดียวกัน ที่ต้องการให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เช่น ในยุโรปบางประเทศติดเชื้อใหม่วันละหลายหมื่นราย แต่ก็เริ่มมีการประกาศผ่อนคลายเต็มที่
เพราะเริ่มมั่นใจว่า สายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดมากว่า 2 เดือน มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แม้ว่าจะมีการติดเชื้อและแพร่ระบาดเร็วกว่า ยกตัวอย่าง ประเทศเวียดนามที่ประกาศเรื่องโรคประจำถิ่น โดยเร่งจากกำหนดการเดิม แม้ว่าจะมีการระบาดมากถึง 1-2 แสนคนต่อวัน เพราะจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน พร้อมกับเดินหน้าเศรษฐกิจ
“ไทยควรเริ่มมองเรื่องการประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นเร็วขึ้น พร้อมกับทยอยผ่อนผันมาตรการ ต่างๆ ลง รวมไปถึงผ่อนคลายการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ เพราะที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจของประเทศบอบช้ำมานานพอสมควร ประชาชนและผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบมามาก สำหรับมาตรการทางสาธารณสุข ก็สามารถปรับระดับได้ตามสถานการณ์เป็นระยะ ๆ โดยเอกชนก็พร้อมที่จะหารือร่วมกันกับภาครัฐอย่างใกล้ชิดเหมือนกับที่ผ่านมา เพื่อให้การเปิดประเทศกลับมาได้เร็วขึ้น” นายสนั่น กล่าว
ทั้งนี้หอการค้าไทยเห็นว่า รัฐบาลควรเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศระบบ Test and go โดยไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้าประเทศ แต่ให้ตรวจ RT-PCR 1 ครั้ง ในวันที่เดินทางมาถึงประเทศไทย และเสนอให้ ลดการกรอกข้อมูลลงระบบ Thailand Pass สร้างให้ เกิดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ให้เป็นภาระ และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทาง ซึ่งหลายประเทศก็ได้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าจะสร้างบรรยากาศในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งถ้าหากการประชุม ศบค. ในวันศุกร์นี้ ได้มีการประกาศออกมาก็จะสร้างความชัดเจนให้ผู้มีแผนเดินทางด้วย
“การติดเชื้อในปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดการจากแพร่ระบาดในประเทศ ดังนั้น การผ่อนคลายมาตรการเพื่อการเปิดประเทศจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ และไม่เสียโอกาสให้ประเทศคู่แข่งที่จะดึงการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนไป อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และผู้ประกอบการในพื้นที่ ยังร่วมกันรณรงค์และและกำชับให้ผู้ประกอบการและประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุข โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ใหม่”