นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อจัดทำโครงการผลักดันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนการขยายผลงานวิจัยของ สวทช.ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการแพทย์มาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อน โดยมีโครงการ GPSC Smart Farming (เกษตรอัจฉริยะ) เป็นโครงการนำร่อง 2 ชุมชน ในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน และมีเป้าหมายการดำเนินงานภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี (ต.ค.64 - ต.ค.67)
สำหรับกรอบความร่วมมือครั้งดังกล่าวนี้ เป็นการนำผลงานวิจัยของ สวทช.นวัตกรรมและนาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบที่เป็นแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อนำไปใช้ได้จริงในชุมชนในพื้นที่ห่างไกลและที่ขาดแคลนด้านสาธารณูโภครวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพภายในชุมชนที่มีความพร้อมในการพัฒนาและต่อยอดการผลิตเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง
ซึ่ง สวทช. มีโครงการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ขณะที่GPSCพร้อมเข้าไปสนับสนุนขยายผลงานวิจัยในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในชุมชนที่ GPSC เข้าไปสนับสนุน
รวมทั้งจัดหาทรัพยากรด้านต่างๆ ทั้งบุคลากรอุปกรณ์เทคโนโลยีด้านพลังงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในชุมชนเป้าหมายอื่นๆต่อไปหลังจากที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มให้กับชุมชนนำร่อง 2 แห่งแรกนี้
สำหรับการพัฒนาโครงการนำร่อง GPSC Smart Farming (เกษตรอัจฉริยะ)ได้มีการนำแพลตฟอร์มนวัตกรรมนาโนเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมมาพัฒนาใน 2 ชุมชน โดยชุมชนนำร่องแรกได้แก่
พื้นที่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ที่ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย คือ 1.1 การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน มุ่งเน้นการจัดอบรมให้ความรู้และประโยชน์ของการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดจนพันธุ์พืชที่เหมาะสมการเพาะปลูกในแต่ละฤดูกาล (Training & Workshop)
และ 1.2 ระบบเกษตรอัจฉริยะในโรงเรือน โดยพัฒนาระบบอัจฉริยะที่เหมาะสมกับพื้นที่ ติดตั้งระบบและทดสอบการใช้งาน ประกอบด้วย การติดตั้งพลังงานหมุนเวียน (RE) การปลูกพืชด้วยแสง LED ระบบการให้น้ำอัจฉริยะและระบบเซนเซอร์สำหรับการติดตามสภาพแวดล้อม
ในส่วนของชุมชนนำร่องที่ 2 ได้แก่ พื้นที่บ้านสวนต้นน้ำ อ.เขาชะเมา จังหวัดระยอง ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ
2.1 Magik Growth นวัตกรรมถุงห่อทุเรียนแทนการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และช่วยทำให้เปลือกบาง-เนื้อหนาขึ้นเป็นการช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)โดยจากงานวิจัยพบว่าทุเรียนที่ห่อด้วยถุง Magik Growthจะมีเปลือกบางลง30%ทำให้น้ำหนักรวมของผลทุเรียนเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่เนื้อจะแน่นขึ้นและมีสีเหลืองขึ้น
2.2 Application ตรวจวัดความสุกของทุเรียน พัฒนาจากการตรวจวัดด้วยคลื่นเสียง แสดงผลใน Application บนมือถือเพื่อแสดงระดับความสุกของทุเรียนแต่ละลูก ช่วยให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนในระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้ขายได้ราคาดีขึ้นเนื่องจากทุเรียนมีความสุกพอดี
Smart Farming จะสอดรับกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 (covid-19) ซึ่งมีแรงงานที่มีความรู้กลับไปอยู่ภูมิลำเนาจำนวนมาก เพื่อไปพัฒนาการเกษตรโดยนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้มาต่อยอดสู่ความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต โดยการยกระดับปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่
โดยใช้พลังงานเพื่อให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพและมาตรฐานที่จะนำไปสู่การสร้างโอกาส อาชีพ และรายได้อย่างยั่งยืนในภูมิภาคต่างๆ ของไทย โดย GPSC สนับสนุนการจัดหาทรัพยากรทั้งอุปกรณ์ บุคลากร และสวทช. พัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้งาน
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(วทน.)สู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน ระหว่าง 2 หน่วยงาน มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้ด้าน วทน.ไปสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ
สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยโมเดล BCG โดย สวทช. ในฐานะเลขาของคณะกรรมการบริหาร BCG ของกระทรวง อว. ได้มีส่วนในการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมขับเคลื่อนตั้งแต่เรื่องเกษตรอาหาร สุขภาพการแพทย์ พลังงานและเคมีชีวภาพตลอดจนท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อมุ่งให้นำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงและมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน