สนามบินเบตง “เพื่อไทย” ซัดไร้การบินพาณิชย์ เหตุ ไม่มีแผนพัฒนาเมืองชัดเจน

20 มี.ค. 2565 | 04:42 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2565 | 12:00 น.

สนามบินเบตง มูลค่าก่อสร้าง 1,900ล้าน  “ เพื่อไทย” ซัดไร้สายการบินพาณิชย์ เหตุ ไม่มีแผนพัฒนาเมืองที่ชัดเจน  จี้หยุดถลุงภาษีประชาชน

 

หลัง จาก พลเอกประยุทธ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เส้นทาง ดอนเมือง-เบตง โดยสารการบินนกแอร์ ไปเมื่อวันที่14มีนาคม2565และในเวลาต่อมา  บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินนกแอร์ ซี่งมีบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ประกาศยกเลิกเที่ยวบิน

 

โดยให้เหตุผลว่าผู้โดยสารที่จองเข้ามามีจำนวนน้อย ไม่คุ้มทุนในแต่ละเที่ยวบิน ขณะภาครัฐโดยกรม ท่าอากาศยานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างให้การช่วยเหลือเพื่อให้กลับมาบินต่อไป โดยมองเห็นศักยภาพของท่าอากาศยาน หรือสนามบิน เบตง ในระยะยาวนั้น

สนามบินเบตง “เพื่อไทย” ซัดไร้การบินพาณิชย์ เหตุ ไม่มีแผนพัฒนาเมืองชัดเจน

 

ขณะมุมมองของฟาก ฝ่ายค้าน อย่าง นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง เรื่องดังกล่าวว่า กรณีที่โซเชียลมีเดียแชร์ภาพท่าอากาศยานนานาชาติเบตงในจังหวัดยะลา ที่ก่อสร้างเสร็จแล้วราว 2 ปี แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ว่า

 

สนามบินแห่งนี้เป็นเสมือนอนุสรณ์สถานของความล้มเหลวในการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อย่างชัดเจน

 

 

เพราะงบประมาณในการก่อสร้างสนามบินเบตง สูง ถึง 1,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ได้รับการอนุมัติในปี 2558 สมัยรัฐบาล คสช. ถูกใช้ไปอย่างสูญเปล่า ไม่มีการวางแผนแม่บทในการใช้งานเพื่อส่งเสริมการเดินทางของประชาชนและการพัฒนาเมือง มีการออกแบบที่ผิดพลาด

สนามบินเบตง “เพื่อไทย” ซัดไร้การบินพาณิชย์ เหตุ ไม่มีแผนพัฒนาเมืองชัดเจน

 

 

 

ในการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ควรจะต้องมีแผนแม่บทที่ให้รายละเอียดความคุ้มทุนจากการลงทุนว่าจะสามารถส่งผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงการวางแผนพัฒนาเมืองโดยรอบสนามบินเบตง

 

"หากรัฐบาลศึกษาไว้อย่างเป็นระบบ ควรนำมาเปิดเผยให้ประชาชนสิ้นข้อสงสัยถึงความคุ้มค่าของเงินภาษีที่ใช้จ่ายไปด้วย"

 

ส่วนการที่กรมท่าอากาศยานออกมาระบุว่าได้ให้บริการเที่ยวบินทางราชการและเที่ยวบินส่วนบุคคลนั้น ก็ยังไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักในการก่อสร้างสนามบินเบตงมาตั้งแต่แรก เป็นการตอบเพื่อลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมเท่านั้น

 

 

กรณีสนามบินเบตง ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้เปิดรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการสายการบิน ที่สำคัญไม่สามารถเจรจาหาสายการบินพาณิชย์มาบินได้ตามที่วางแผนไว้ เพราะตัวสนามบินมีข้อจำกัดที่มีผลต่อความปลอดภัยในการทำการบิน และความไม่คุ้มทุนของสายการบิน 

 

 

โดยที่ผ่านมา สายการบินพาณิชย์ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐสนับสนุนค่าธรรมเนียมบริการ ค่าภาษีต่างๆ รวมทั้งต้องจ่ายเงินค่าตั๋วการันตีจำนวนผู้โดยสาร (Block Seats) ถึง 75% ทุกเที่ยวบินให้ สายการบินจึงจะยอมเปิดเส้นทางบินลงสนามบินนี้ แม้การหารือยังไม่ได้ข้อสรุป แต่หากรัฐยอมรับข้อเสนอนี้

 

เท่ากับว่ารัฐจะต้องดึงเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายภาคเอกชนเพื่อให้มีสายการบินเข้ามาใช้บริการ เพื่อเลี้ยงเส้นทางบินผีหลอก และรักษาหน้ารัฐบาลที่สร้างสนามบินมาแล้วไม่มีเครื่องบินลงใช่หรือไม่นายชนินทร์ กล่าว