วันที่ 22 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ วงเงินลงทุนเฟสแรก 19,000 ล้านบาท ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีเป้าหมายของเมืองใหม่และศูนย์ธุรกิจอีอีซีได้รวบรวมที่ดิน สปก. บางละมุง จ.ชลบุรี ไว้แล้วประมาณ 14,619 ไร่ หรือประมาณ 15,000 ไร่ ห่างจากสนามบินอู่ตะเภา 15 กิโลเมตร มีธุรกิจ 5 คลัสเตอร์
ประกอบด้วย ศูนย์สำนักงานใหญ่ของบริษัทนภูมิภาคและสถานที่ราชการ ศูนย์การเงินอีอีซี ศูนย์การพแพทย์แม่นยำเฉพาะด้าน ศูนการศึกษาวิจัย และธุรกิจพลังงานสะอาดและดิจิทัล แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนทุกลุ่มรายได้ 3,000 ไร่ มีตำแหน่งงาน ประมาณ 2 แสนตำแหน่ง พื้นที่สีเขียว 30 % และพื้นที่ใช้สอย 70 %
สำหรับศูนย์กลางธุรกิจอีอีซี อยู่ในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา ที่จะพัฒนาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดอีอีซี เคยแสดงความเห็นว่า โครงการนี้จะถอดแบบและเป็นมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหม่น่าอยู่ปูซาน โดยตั้งเป้าจะเป็นเมืองใหม่อัจฉริยะ ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
สำหรับโครงการนี้จะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดในช่วง 10 ปี มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการประมาณ 1.34 ล้านล้าน ภาครัฐจะลงทุน 3 % ที่เหลือเป็นรูปแบบการลงทุน PPP โดยผลการตอบแทนการลงทุนของรัฐ จะมาจากค่าเช่าที่ดิน ค่าส่วนกลาง และส่วนแบ่งรายได้จากระบบ PPP
มูลค่าการลงทุนรวมของโครงการ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ 37,674 ล้านบาท ,สำนักงานอีอีซี 28,541 ล้านบาท เช่นค่าเวนคืนที่ดิน เตรียมโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ,ภาครัฐอื่น ๆ ลงทุน 9,133 ล้านบาท ,การลงทุนแบบ PPP ในโครงการประเภทสาธารณูปโภคในเมือง ระบบขนส่งสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 131,119 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนจากเอกชนในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ประมาณ 1,180,808 ล้านบาท
ใน 3 ปีแรก ปี 2565-2567 รัฐจะใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและการจัดสรรที่ดิน ประมาณ 23,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุน 19,000 ล้าน ดอกเบี้ย 4,000 ล้าน คาดว่าภายใน 10 ปีจะคืนเงินส่วนนี้ให้กับรัฐบาล พร้อมดอกเบี้ย
ส่วนงบประมาณที่ขอให้รัฐบาลช่วยจัดสรร อาทิ ค่าชดเชยที่ดิน ค่าที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด ค่าปรับพื้นที่และเตรียมการ รวมทั้งค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง
สำหรับวาระที่เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มาตรา 6 (5) ระบุว่า พื้นที่อีอีซี จะต้องมีการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย และประกอบกิจการอย่างมีคุณภาพและอาศัยอำนาจตามมาตรา 34 ที่ระบุไว้ว่า กรณีมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเขตอีอีซี ให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการโดยวิธีการจัดซื้อ เช่า เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืน
หรือโดยวิธีการอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดและการใช้ที่ดิน สปก. ในมาตรา 36 บัญญัติไว้ว่า กรณีมีความจำเป็นเพื่อการพัฒนาอีอีซี คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจให้สำนักงานเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ได้มาตามกฏหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อการดำเนินการหรือประกอบกิจการอื่นใด นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฏหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดินสำหรับที่ดินส่วนนั้น