การเจรจาแก้สัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดอีอีซี ระยะทาง 220 กิโลเมตรมูลค่า 2.24 แสนล้านบาทระหว่างบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพีกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คู่สัญญายังไม่สามารถหาจุดสมดุลที่ลงตัวได้ และได้ยืดเวลาแก้สัญญาออกไปเป็นช่วงเดือนเมษายน 2565 หลังกำหนดกรอบเจรจาให้ได้ข้อยุติภายใน 3 เดือน
นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติวันที่ 19 ตุลาคม 2564 สั่งเยียวยาผลกระทบโควิดขยายเวลาชำระค่าให้สิทธิ์ในส่วนโครงการร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์วงเงิน 10,671 ล้านบาทและสามารถผ่อนชำระได้ตามข้อเสนอของเอกชนคู่สัญญา ที่เสนอผ่อนชำระ10งวดหรือ 10 ปี ขณะภาครัฐกำหนดให้เพียง 6 งวดหรือ 6 ปี
ทั้งนี้ไม่เพียงแต่การแก้สัญญาโอนสิทธิ์แอร์พอร์ตลิงก์เท่านั้น ยังส่งสัญญาณ ลามไปถึงการแก้สัญญาสัมปทานทั้งโครงการเนื่องจาก การส่งมอบพื้นที่ ไม่ครบสมบูรณ์ 100% ชนวนให้เอกชนคู่สัญญาไม่ลงนามรับมอบพื้นที่ ในทางกลับกันในมุมภาครัฐยืนยันว่าไม่มีโครงการใดสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ครบทั้ง 100%
โดยเฉพาะปัญหาใหญ่พื้นที่ทับซ้อนระหว่างรถไฟไทยจีน บริเวณสัญญาที่หนึ่ง “ดอนเมือง-บางซื่อ” กับไฮสปีดฯ3สนามบิน ดังนั้นรฟท.จึงหาทางออกโดยมอบบริษัทเอเซียเอราวัน รับภาระ แลกกับการแก้สัญญา รฟท.ชำระเงินระหว่างก่อสร้างตั้งแต่ปีที่ 3 เพื่อลดผลกระทบดอกเบี้ยให้กับเอกชนคู่สัญญา
สำหรับความคืบหน้าโครงการไฮสปีดอีอีซี นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันรฟท.อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มซีพีผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการฯเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ เพื่อขอขยายระยะเวลาการชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10,671 ล้านบาท
จากเดิมมีกำหนดชำระในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้รฟท.ได้ขยายระยะเวลาบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการเจรจาร่างแก้ไขสัญญาที่ รฟท. ทำร่วมกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ไปจนถึงวันที่ 24 เมษายน 2565
อย่างไรก็ตาม รฟท.จะดำเนินการการแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ไฮสปีด3สนามบินหรือไม่นั้น เบื้องต้น ต้องฟังข้อเท็จจริงทั้งหมดจากภาคเอกชน และพิจารณาว่าสิ่งที่เอกชนอ้างเหตุว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของเอกชนอย่างไร
หากพบว่าได้รับผลกระทบจริงรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา หรือเยียวยาหรือไม่ ทั้งนี้ในการหารือนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และการเงิน จะเป็นผู้ช่วย รฟท. วิเคราะห์ปัญหาในกรณีดังกล่าว
ส่วนการขยายเวลาการเจรจาให้สิ้นสุดถึงเดือน เมษายน 2565 แต่ รฟท. กำหนดเป้าหมายไว้ว่าการเจรจาจะต้องได้ข้อยุติเรียบร้อยทุกเรื่องภายในปลายเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้เวลาที่เหลือนำไปสู่ขั้นตอนของการเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา หากต้องมีการแก้ไขสัญญาฯ ต้องส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป อย่างไรก็ตามการเจรจาครั้งนี้ หากท้ายที่สุดแล้วยังไม่ได้ข้อยุติตามกรอบเวลาที่วางไว้อีก ก็คงต้องบริหารตามสัญญาเดิม
ขณะที่ความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 5,521 ไร่ รฟท. พร้อมส่งมอบกว่า 98% ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกกว่า 1% นั้น ปัจจุบันรฟท. ดำเนินการเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จ เพียงแต่รองบประมาณเบิกจ่ายให้กับประชาชนเท่านั้น
“ได้เจรจากับทางเอกชนแล้วว่า รฟท. มีเจตนาตั้งใจให้โครงการได้เกิดจริงๆ และเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2565”
อย่างไรก็ตามเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ยังต้องหารือร่วมกับเอกชนให้เห็นตรงกันว่า ปัญหาของการส่งมอบบางพื้นที่โดยเฉพาะในส่วนของมักกะสัน เช่น บึงเสือดำ และลำลางสาธารณะ โดยในพื้นที่จริงไม่มีเพราะได้รับการแก้ไขแล้ว แต่มีปรากฏอยู่ในแผนที่
หากจะให้ รฟท. ไปดำเนินการแก้ไขให้ตรงกับความเป็นจริง จะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการมากมาย ดังนั้นในระหว่างรอที่จะทำให้ตรงกับความเป็นจริง จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งกำลังหารือกับทางเอกชนอยู่ โดยเอกชนให้ความร่วมมือที่ดีที่จะเจรจาในเรื่องนี้
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวต่อว่า กรณีที่รฟท.และเอกชนคู่สัญญาในโครงการไฮสปีดอีอีซีอยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขสัญญานั้น ทางสกพอ.เห็นว่าการแก้ไขสัญญาทั้ง 2 ฝ่ายในครั้งนี้สามารถดำเนินการได้ เพราะมีอายุสัญญาสัมปทานระยะยาว 50 ปี
เนื่องจากมีปัญหาด้านผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 และปัญหาพื้นที่ทับซ้อนพื้นที่โครงการไฮสปีดไทย-จีน ของช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นก่อนที่มีการลงนามสัญญา ซึ่งมีเหตุผลที่ต้องดำเนินการแก้ไขสัญญาตามกฎหมายครบถ้วนเพื่อให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขของโครงการฯ
เพื่อหาข้อยุติ หลังจากรฟท.เจรจาร่วมกับเอกชนได้ข้อยุติแล้ว จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการรฟท., คณะกรรมการกำกับรฟท.และเสนอต่อคณะกรรมการสกพอ.เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนเมษายนนี้ ก่อนสิ้นสุดตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ของทั้ง 2 ฝ่ายที่มีการขยายเวลาถึงวันที่ 24 เมษายน 2565
“ส่วนการแก้ไขสัญญาในครั้งนี้จะทำให้เกิดการได้เปรียบและการเสียเปรียบต่อเอกชนรายอื่นในด้านการแข่งขันโครงการอื่นๆฯของภาครัฐหรือไม่นั้น ทางสกพอ.มองว่าหากเอกชนมีความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือเยียวยาสามารถยื่นเรื่องให้รัฐพิจารณาดำเนินการได้ ซึ่งจะต้องดูเป็นกรณี ทั้งนี้โครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในประเทศจะมีมาตรการช่วยเหลือเอกชนอยู่แล้ว ยกเว้นการชำระค่าปรับ,การยืดระยะเวลาการส่งงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาแทบทุกโครงการฯ เชื่อว่าภาครัฐพร้อมที่จะช่วยเหลือเยียวยา”
ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยากับเอกชนหรือไม่นั้น ที่ผ่านมาพบว่าผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลดลงเหลือ 30,000 คนต่อวัน จากเดิมที่มีผู้ใช้บริการราว 80,000 คนต่อวัน รวมทั้งในปัจจุบันยังพบว่า
ปริมาณผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไม่สามารถกลับมาเทียบเท่ากับในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ทำให้สกพอ.มองว่าต้องเข้าไปช่วยเยียวยาผลกระทบดังกล่าวให้กับเอกชน ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนกับภาครัฐ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากภาครัฐมีมาตรการควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวด้วย
รายงานข่าวจากสกพอ.กล่าวต่อว่า ส่วนการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 10 กิโลเมตร (กม.) ที่ติดปัญหาทับซ้อนโครงสร้างโครงการไฮสปีดไทย-จีน นั้น
ปัจจุบันเอกชนเตรียมดำเนินการเข้าพื้นที่ โดยลงทุนก่อสร้างรวม 3,500 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงหล่อทางวิ่งคอนกรีตของรถไฟ จำนวน 3 แห่ง จำนวน 500 ไร่ ก่อสร้างถนนกว่า 100 กิโลเมตร (กม.) ก่อสร้างสะพาน 50 แห่งคาดว่าจะดำเนินการส่งมอบพื้นที่ช่วงนี้ภายในต้นปีนี้โดยเร่งรัดดำเนินการก่อสร้าง เพื่อไม่ให้กระทบแผนการก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน ล่าช้า
ขณะเดียวกันการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์การแก้ปัญหาทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมาเอกชนมีการเสนอแผนการก่อสร้างตามมาตรฐานของยุโรป โดยระยะทางระหว่างช่วงบางซื่อ-พญาไท มีระยะทางที่สั้น กำหนดความเร็วของรถไฟอยู่ที่ 160 กิโลเมตร (กม.)ต่อชั่วโมง แต่ภาครัฐต้องการใช้แผนการก่อสร้างตามมาตรฐานจีน
โดยกำหนดความเร็วของรถไฟอยู่ที่ 250กิโลเมตร (กม.)ต่อชั่วโมง รวมทั้งเอกชนต้องเป็นผู้รับภาระสร้างทางวิ่งให้กับโครงการไฮสปีดไทย-จีน ด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้อยู่นอกเหนือสัญญาทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเอกชนต้องรับภาระทั้งหมด ทั้งนี้ทางเอกชนแจ้งว่าหากต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดคงไม่ไหว ทำให้ต้องดำเนินการปรับแก้เงื่อนไขในสัญญาเพื่อให้เอกชนประหยัดดอกเบี้ยและรับภาระทางการเงินที่ภาครัฐขอดำเนินการเพิ่มเติมแทน
รายงานข่าวจากสกพอ. กล่าวต่อว่า ด้านการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 12 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในการรื้อย้ายท่อน้ำมัน และจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2565
หลังจากนั้นจะดำเนินการเร่งรัดการรื้อย้ายท่อส่งน้ำมันโดยเร็ว ส่วนระบบสาธารณูปโภคได้ดำเนินการรื้อย้ายเสร็จแล้ว คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ภายในไตรมาส 1-ไตรมาส 2 ของปี 2566 จากเดิมที่กำหนดส่งมอบพื้นที่ภายในเดือนตุลาคม 2566