นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในการสัมมนา THE BIG ISSUE 2022 ฝ่าไฟสงคราม รับมือวิกฤตเศรษฐกิจ จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และกรุงเทพธุรกิจ (23 มี.ค. 65) ในหัวข้อ “ทางออก ทางรอดธุรกิจไทย หลังไฟสงคราม” ใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า
สงครามรัสเซีย-ยูเครนคงไม่จบง่าย ๆ ทางหอการค้าไทยคาดการณ์ราคาน้ำมันปีนี้น่าจะอยู่ในระดับ 100-120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะเดียวกันคงทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ มีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสัตว์ เนื้อสัตว์ที่คนบริโภค ส่วนภาคเกษตรที่ห่วงมากคือราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น และอาจขาดแคลน จากปีหนึ่งไทยมีการนำเข้าปุ๋ยถึง 5 ล้านตัน
ส่วนเรื่องค่าพลังงาน ห่วงผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบ ล่าสุดรัฐบาลได้มี 10 มาตรการในการช่วยลดค่าครองชีพแก่ประชาชน ขณะเดียวกันเรื่องการท่องเที่ยวที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ได้คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเข้ามาประมาณ 5-7 แสนคน ก็คงจะติดขัดจากผลของสงคราม
ขณะเดียวกันขณะนี้ทาง ททท.กับหอการค้าไทยได้จับมือกันทำงานในทำงานในลักษณะ Trade & Travel คาดว่าจะสามารถนำนักท่องเที่ยวจากซาอุดิอาระเบียเข้ามาได้ประมาณ 2 แสนคนในปีนี้ ขณะเดียวกันคงต้องไปทำตลาดอินเดียซึ่งเมื่อ 2 วันที่แล้วตนได้คุยกับชาวมัลดีฟส์ ซึ่งได้รับข้อมูลว่ามัลดีฟส์ปีที่แล้วที่การท่องเที่ยวยังไปได้เนื่องจากมีชาวอินเดียเข้าไปเที่ยวที่มัลดีฟส์จำนวนมาก ซึ่งในส่วนของไทยก็สามารถที่จะชักชวนชาวอินเดียมาเที่ยวไทยได้อีก
ขณะที่เมื่อพูดถึงโควิด ขณะนี้เองเวียดนาม ก็มีคนติดเชื้อวันหนึ่ง 1-2 แสนคน ซึ่งก่อนหน้านี้เวียดนามมีมาตรการคุ้มเข้มโควิดที่เข้มงวดมาก แต่ขณะนี้กลายเป็นว่า เขาบอกจะรีบชิงตลาดนักท่องเที่ยวเข้าเวียดนามให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันนักลงทุน นักการค้า หรือนักธุรกิจก็สามารถเดินทางเข้าไปได้ รวมถึงคนที่จะไปลงทุน รวมถึงพนักงานต่าง ๆ ก็ไปได้ โดยเวียดนามจะประกาศให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อให้เข้าประเทศเวียดนามได้ง่ายขึ้น
ในส่วนนี้อยากจะเรียกร้องให้รัฐบาลไทยได้พิจารณาเรื่องนี้(โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น) ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องรอไปถึงเดือนกรกฎาคมถึงจะประกาศ ไม่งั้นไทยจะเสียเปรียบ(รัฐบาลประกาศโรคโควิดออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่นเดือนกรกฎาคม 2565 นี้)
สำหรับเศรษฐกิจไทย ขณะนี้ 1 ใน 5 ของเอสเอ็มอีไทยคงไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากเสียศูนย์ไปแล้ว ขณะเดียวกันกลุ่มที่คิดว่ายังสามารถช่วยเขาเป็นสิ่งจำเป็นต้องเร่งช่วยให้กลับมา
ทั้งนี้จะทำอย่างไรเพื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต และรัฐต้องช่วยเหลืออะไรบ้าง ทางหอการค้าฯตี 4 กรอบแนวทางที่เรียกว่า 4R ประกอบด้วย 1.Restart คือ สร้างใหม่ต่อยอดจากจุดแข็งเดิม โดยต้องสร้างอีโค-ซิสเต็มให้เหมาะสม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ BCG ( B- Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ C- Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน G- Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งปีนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ซึ่งไทยชูเรื่อง BCG เป็นประเด็นหลัก ดังนั้นต้องเร่งรัดในเรื่องการทำความเข้าใจ และให้ความรู้กับภาคธุรกิจของไทยให้เข้าใจ และเข้าถึง
ขณะเดียวกันในส่วนของสตาร์ตอัพ รัฐบาลก็ได้ให้สิทธิประโยชน์ และสร้างสิ่งจูงใจให้ธุรกิจสตาร์ตอัพเติบโต เพิ่มการลงทุนในส่วนนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Restart
2.Reimagine การคิดใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ ซึ่งเวลานี้ไทยได้มีการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า(EV) เรื่องอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ธุรกิจการแพทย์ โรบอติกส์ อาหาร การเกษตร และชีวเคมี เป็นต้น ซึ่งทางหอการค้าไทยได้ชูในเรื่องนี้เป็นอย่างมากในการขอให้ภาครัฐให้การส่งเสริม เพื่อให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงภาคเกษตรได้ใช้เทคโนโลยีใหม่เข้าไปช่วยสนับสนุนในการทำงาน
3.Recover หาแนวทางเพื่อพลิกฟื้น เช่น การท่องเที่ยวของไทยเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำอย่างไรจะฟื้นฟูกลับมา ซึ่งขณะนี้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยน จะทำอย่างไรให้สามารถเข้ามาพำนักได้ในระยะยาว โดยสามารถเข้ามาเที่ยวและทำงานได้ด้วย ซึ่งไทยได้รับการโหวตเป็นอันดับหนึ่งของการท่องเที่ยวอยู่แล้ว
“ผู้ประกอบการท่องเที่ยวพูดเหมือนกันว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องช่วยเวลานี้คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน วันนี้เรามีแผลเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แผลหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของจีดีพี และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี เป็นต้น ซึ่งเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อก็ต้องไปกู้นอกระบบ ดังนั้นต้องทำให้การเงินมีความหลากหลายเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้”
และ 4.Reform Enablers การตื่นตัวเพื่อปรับตัวให้เร็ว เช่น ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น การศึกษา ซึ่งธุรกิจดิจิทัลจากนี้มีความสำคัญมาก จะทำอย่างไรให้ไทยเป็นภูมิภาคสำหรับการค้าและการลงทุนด้านนี้ สิ่งที่ กกร.(คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) เรียกร้องมาโดยตลอดคือเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และช่วยรัฐบาลทรานส์ฟอร์มเป็น E-Government โดยรัฐ-เอกชนทำงานใกล้ชิดกันให้มากที่สุด