นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ว่า เป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในเชิงเศรษฐกิจและการค้าไปทั่วโลก หากสงครามมีความยืดเยื้อ จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้น กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
รัสเซีย ถือเป็นประเทศมหาอำนาจด้านพลังงานของโลก ทั้งด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน และสินแร่ต่าง ๆ รวมถึงเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารหลายชนิดจากต่างประเทศในระดับสูง เนื่องจากข้อจำกัดด้านภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ขณะที่ ยูเครน เป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญในลำดับต้น ๆ ของโลก
เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และธัญพืชชนิดต่าง ๆ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นดั่งอู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป โดยมีการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น โปรตีนเข้มข้น กาแฟ ครีมเทียม ยาสูบ น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์ รวมทั้งมีการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รถยนต์และยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ด้านสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ไทย-รัสเซีย รัสเซียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 30 ของไทย ซึ่งในปี 2564 มีมูลค่าการค้ารวม 88,167 ล้านบาท ไทยส่งออก 32,508 ล้านบาท และนำเข้า 55,660 ล้านบาท โดยการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังรัสเซีย คิดเป็นมูลค่า 5,344 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.39 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรรวม ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากรัสเซีย คิดเป็นมูลค่า 2,720 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.54 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรรวม
ไทย-ยูเครน ยูเครนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 63 ของไทย ซึ่งในปี 2564 มีมูลค่าการค้า 12,428 ล้านบาท ไทยส่งออก 4,229 ล้านบาท และนำเข้า 8,200 ล้านบาท โดยการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังยูเครน คิดเป็นมูลค่า 1,165 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.08 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรรวม ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากยูเครน คิดเป็นมูลค่า 4,461 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.18 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรรวม
จะเห็นได้ว่า ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าให้กับรัสเซียและยูเครนมาโดยตลอด โดยสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนส่วนใหญ่ เช่น สับปะรดปรุงแต่ง พืชผัก ผลไม้ ลูกนัต เปลือกผลไม้และส่วนอื่นของพืช แช่อิ่ม เชื่อมหรือฉาบ เนื้อปลาอื่น ๆ แช่เย็นจนแข็ง เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากรัสเซีย เช่น สินค้าประมงแช่แข็ง บักก์วีต ข้าวฟ่างนกเขา และนำเข้าจากยูเครน เช่น ข้าวสาลีกากน้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดิบที่ได้จากเมล็ดทานตะวัน แป้งสตาร์ชทำจากข้าวโพด และบักก์วีต ข้าวฟ่างนกเขา
สำหรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทย ในกรณีรัสเซีย สศก. ประเมินว่า เป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่รัสเซียมีความต้องการสูง เช่น ข้าว ยางพารา ผักและผลไม้ อาหารทะเล สินค้าปศุสัตว์ และอาหารแปรรูป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไทยต้องคำนึงถึงการแสดงท่าทีของประเทศในสถานการณ์สงครามให้เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมา ไทยแสดงจุดยืนที่เป็นกลางมาโดยตลอด
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจการเกษตร กรณียูเครน การส่งออกสินค้าเกษตรไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่จะได้รับผลกระทบในด้านการนำเข้าสินค้าเกษตรบางชนิด เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการนำเข้าจากยูเครนในระดับสูง อาทิ ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง น้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน เมล็ดฝ้าย หรือเมล็ดดอกคำฝอย และบักก์วีต ข้าวฟ่าง จึงต้องเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ราคาวัตถุดิบเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือไม่สามารถนำเข้าจากยูเครนได้
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 รัสเซียได้ประกาศห้ามส่งออกปุ๋ยเคมีทั้งหมด ซึ่งรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตปุ๋ยเคมีในอันดับที่ 2 ของโลก รองจากแคนาดา จึงอาจทำให้ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกและในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรของไทย ภาครัฐ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งปุ๋ยเคมีและอาหารสัตว์ โดยกำหนดแนวทางดังนี้
อัพเดท
"ปุ๋ยเคมี" การแก้ไขปัญหาปุ๋ยขาดแคลน กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาปรับราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นสินค้าควบคุมให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนนำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น และป้องกันปัญหาปุ๋ยเคมีขาดตลาด การแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูง “4 ถูก ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา ถูกวิธี” และเร่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพให้ได้จำนวน 5 ล้านตัน เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี
โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกันพิจารณาแนวทางในการบริหารดการปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต้นทุนการผลิตต่อไป อาหารสัตว์ ให้ชะลอการใช้มาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ อัตราส่วน 1 ต่อ 3 ของกระทรวงพาณิชย์ ไว้ชั่วคราวจนถึง 31 กรกฎาคม 2565
นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาราคาอาหารสัตว์ โดยมีผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือเพื่อกำหนดช่วงเวลาและปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศที่ชัดเจน โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยที่ผลิตพืชอาหารสัตว์
“เศรษฐกิจการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบทางตรงจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยเคมี วัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยการผลิตหลักในการผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปยังรัสเซียและยูเครนในปี 2565 มีแนวโน้มลดลงจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 70-90 เนื่องจากปัญหาในด้านการขนส่งและการกระจายสินค้า"
ประกอบกับกำลังซื้อที่ลดลงมาก รวมถึงการระงับการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งในรัสเซีย ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือ ตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวนจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย อาจทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนเช่นกัน และหากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อออกไป จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยชะลอตัวตามไปด้วย ดังนั้น ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความขัดแย้งในครั้งนี้จะบานปลายเพียงใด นานาประเทศจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซียอีกหรือไม่ โดยเฉพาะการโดดเดี่ยวรัสเซียจากระบบการเงินโลก ซึ่งจะต้องจับตามองร่วมกันต่อไป