นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนก.พ.2565 ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 7,211 ราย เทียบกับม.ค.2565 ลดลง 10% และเทียบกับก.พ.2564 ลดลง 1% แต่ก็ถือว่าฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อเทียบกับการจดตั้งใหม่ที่ชะลอตัวลงตั้งแต่เม.ย.2564 โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 19,376.01 ล้านบาท และประเภทธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่กลับมาติดอันดับ 3 อีกครั้ง หลังจากหลุดไปประมาณ 8 เดือน เป็นการตั้งใหม่ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการเปิดประเทศ
ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 669 ราย เมื่อเทียบกับม.ค.2565 ลดลง 33% เทียบกับก.พ.2565 เพิ่มขึ้น 15% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกจำนวน 25,643.99 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การจดทะเบียนตั้งใหม่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากมาตรการการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล การเปิดประเทศแบบ Test & Go รวมทั้งสถานการณ์การส่งออกที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ซึ่งมีผลช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการในการจัดตั้งธุรกิจ
ส่วนแนวโน้มการจดทะเบียนตั้งใหม่ในระยะต่อไป คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 สายพันธุ์โอไมครอน จะยังคงสร้างความกังวลให้ผู้ประกอบการในประเทศ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มสูงขึ้น และยังมีความเสี่ยงเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น จึงเป็นอีกปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ยังคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่ประมาณที่ 40,000–42,000 ราย และตลอดทั้งปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 70,000–75,000 รายปัจจุบันมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 28 ก.พ.2565) จำนวน 822,541 ราย มูลค่าทุน 19.65 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 199,585 ราย คิดเป็น 24.26% บริษัทจำกัด จำนวน 621,635 ราย คิดเป็น 75.58% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,321 ราย คิดเป็น 0.16% ตามลำดับ