นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ.พณ) ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับหอการค้าไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ.พาณิชย์)
มีประเด็นที่ติดตามแก้ปัญหาร่วมกัน 8 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การขนถ่ายสินค้าทางเรือซึ่งเอกชนต้องการให้เรือขนาดใหญ่ เข้ามาจอดเทียบท่าในไทยและขนสินค้าบางอย่างผ่านเขตพิเศษบริเวณท่าเรือได้ และเอาสินค้าไทยขึ้นเรือได้ เอกชนเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับการจูงใจให้เรือเข้ามา จะได้ตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่าเดือนเมษายนนี้จะได้ข้อสรุปโดยได้มอบเป็นนโยบายแล้วว่าสินค้าที่ผู้มีส่วนได้เสียไม่เห็นด้วยที่จะนำมาพักในบริเวณท่าเรือเพื่อการถ่ายลำ เช่น มันสำปะหลัง ให้เอาออกได้แต่สินค้าอื่นที่เห็นพ้องต้องกัน และควรหาข้อสรุปให้จบในเดือนเมษายน
2. ตู้คอนเทนเนอร์มีการประเมินว่าสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมาดีขึ้น เดิมก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เราประเมินว่ากลางปี 65 สถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่เมื่อเกิดสภาวะสงคราม ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นจะร่วมกันแก้กับประชาชนต่อไปในรูปของ กรอ.พาณิชย์
3. การส่งออกผลไม้ไปจีน จะเน้นมาตรการเชิงรุก 17 + 1 มาตรการ และมาตรการ 8 ข้อใหม่ โดยเฉพาะตลาดใหญ่คือตลาดจีน แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ด่านทางบก เอกชนต้องการให้จีนขยายเวลาเปิดด่าน อำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้นำเข้าผลไม้จีนและผู้ส่งออกผลไม้ไทยได้รับความสะดวกร่วมกัน และให้ผู้บริโภคจีนได้รับผลไม้ที่สดใหม่ที่สุดจากเมืองไทย มอบให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและทูตพาณิชย์ ทูตเกษตรและเอกอัครราชทูตไทยช่วยเจรจากับทางการจีน
4. เร่งให้มีการเปิดด่านชายแดนเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน เร่งรัดการเปิดด่าน 15 ด่าน ที่เป็นทางเป้าหมายมาเลย์ 2 ด่านเปิดแล้ว คือ ด่านตากใบและด่านบูเก๊ะตา ส่วนสปป.ลาว 9 ด่าน กัมพูชา 2 ด่าน เมียนมา 2 ด่าน กำลังเร่งดำเนินการ ปัจจัยความสำเร็จสำคัญอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย จะเป็นผู้เจรจากับเจ้าเมืองตรงข้าม แต่นโยบายรัฐบาลกับกระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการเปิดด่าน
5. การทำ Mini FTA ตั้งเป้าไว้ 11 ฉบับ ลงนามแล้ว 2 ฉบับ คือไห่หนานกับโคฟุของญี่ปุ่น ที่เหลือนัดหมายวันลงนามอีก 4 ฉบับประกอบด้วย รัฐเตลังกานาของอินเดียลงนามวันที่ 11 เมษายนนี้ และอีกฉบับกับมณฑลการซู่ของจีน ที่จะเป็นตลาดฮาลาลใหญ่ และปูซานคาดว่าลงนามได้ปลายเดือนเมษายน ตามด้วยคยองกีของเกาหลี มีการเลื่อนเนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในของเกาหลี และที่ต้องเจรจาต่อไปให้จบอีก 4 ฉบับ 1.รัฐกรณาฏกะ 2. รัฐมหาราษฏระ 3. รัฐเกรละ ของอินเดีย และ 4. เมืองเซินเจิ้นของจีน ซึ่งเอกชนเสนอเพิ่มและรับเข้าแผนแล้วคือกับมณฑลยูนนานซึ่งเป็นมณฑลใหญ่และรถไฟลาว-จีน จะไปจบที่มณฑลยูนนาน เส้นทางเชียงของ ด่านโม่ฮานก็มณฑลยูนนานเส้นทางเชียงแสน ทางเรือมณฑลกวนเหล่ยก็มณฑลยูนนาน ถ้าเราได้ทำ Mini FTA จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ
6. เดินหน้าเปิดการค้ากับประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยสัปดาห์หน้าไทยจะส่งไก่ล็อตแรกไปยังซาอุฯและเตรียมพาภาคเอกชนเดินทางไปขายของให้ซาอุฯ โดยมีเป้าหมาย 3 เมือง คือ เจดดาห์ ริยาดและดัมมัม สินค้าเป้าหมาย คือ ยานยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร เสื้อผ้าสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ และตั้งใจจะฟื้น JTC ไทย-ซาอุฯ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและในเวทีนั้นจะมีการเจรจาการค้าในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป
7. รถไฟลาว-จีน คาดว่าด่านเวียงจันทน์เปิดให้บริการแล้ว แต่ ด่านรถไฟโม่ฮานที่จะนำเข้าผลไม้ไทยได้ยังสร้างไม่เสร็จต้องรอประมาณกลางปีหรือเดือนมิถุนายน การส่งออกสินค้าไปจีนโดยเฉพาะผลไม้จะต้องเตรียมแผนรองรับทางเรือกับทางอากาศไว้ ซึ่งเอกชนได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว ว่าจะเพิ่มการส่งออกทางเรือกับทางอากาศอย่างไร
“สิ่งที่ทูตพาณิชย์ ทูตเกษตร กระทรวงการต่างประเทศต้องช่วยเจรจากับทางการจีน ช่วยให้จีนอำนวยความสะดวกให้เกิดความรวดเร็วที่ท่าเรือของจีนอย่างไร”
8.การค้าไทยกับอียิปต์ ที่ขณะนี้แบงค์ชาติของอียิปต์กำหนดให้ผู้นำเข้าของอียิปต์จะต้องรับเฉพาะ Letters of Credit (L/C) ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลาและค่าธรรมเนียม ซึ่งทูตพาณิชย์ไทยประจำอียิปต์จะเป็นผู้ประสานและเป็นศูนย์กลางในการประสานให้ผู้ส่งออกไทยได้ทราบถึงกฎระเบียบ รายละเอียดต่างๆ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพิ่มเติม และกระทรวงพาณิชย์จะมีสายด่วนและเว็บไซต์แจ้งเตือนถ้ามีปัญหาหรือกฎระเบียบใหม่เพิ่มเติม สินค้าที่ไทยส่งไปอียิปต์สำคัญ เช่น อาหารทะเลกระป๋อง รถยนต์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ซึ่งอียิปต์เป็นตลาดที่มีสัดส่วนการส่งออกของไทยในตลาดโลกที่ 0.43%