นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯได้ดำเนินมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดย กรมฯได้ดำเนินการรับซื้อมะม่วงฟ้าลั่น เพื่อเร่งกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตตั้งแต่ต้นฤดูการผลิต รวมปริมาณการรับซื้อแล้วกว่า 1,400 ตัน ในราคา 10 บาท ซึ่งเป็นราคานำตลาด (ราคาตลาด เกรดคละ 7-8 บาท/กก. สูงกว่าปี 2564 ที่ราคาอยู่ที่ 4-5 บาท) และมะม่วงน้ำดอกไม้ในราคา 25 บาท ซึ่งเป็นราคานำตลาด (ราคาตลาด เกรดคละ 20-22 บาท/กก. สูงกว่าปี 2564 ที่ราคาอยู่ที่ 15-20 บาท)
โดยในจังหวัดพิจิตร กรมฯได้เข้าไปรับซื้อผลผลิตจาก 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงวังทับไทร กลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงคลองทราย กลุ่มกองทุนฟื้นฟู กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองสองห้อง และจังหวัดพิษณุโลกจำนวน 6กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกไทรย้อย กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงบ้านเขาเขียว
กลุ่มผู้ผลิตมะม่วงบ้านลำภาศ กลุ่มมะม่วงคุณภาพบ้านวังน้ำบ่อ กลุ่มแปลงใหญ่บ้านพุกระโดน กลุ่มบ้านคลองตะเคียน ซึ่งการรับซื้ออย่างต่อเนื่องในราคานำตลาดส่งผลให้เกษตรกรมีความพอใจในราคาเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เป็นช่วงปลายฤดูการผลิตของมะม่วงฟ้าลั่น ซึ่งผลผลิตในช่วงนี้มีลักษณะแก่จัด เกษตรกรจำเป็นต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้ผลผลิตออกมาสู่ตลาดในปริมาณมาก
โดยเฉพาะผลผลิตตกเกรดที่ไม่มีตลาดรองรับ กรมฯ จึงได้ผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตร สถานีบริการน้ำมัน PT รับซื้อผลผลิตตกเกรดจากกลุ่มเกษตรกรเพื่อแปรรูป นำไปเป็นของสมนาคุณให้แก่ผู้ใช้บริการในปั๊มน้ำมัน รวม 300 ตัน โดยรับซื้อในราคา 5 บาท ซึ่งเป็นราคานำตลาด (ราคาตลาด อยู่ที่ 3-4 บาท คงที่จากปี 2564) โดยเป็นการรับซื้อต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25- 31 มีนาคม 2565 เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายในช่วงปลายฤดู
สำหรับที่ปรากฏเป็นข่าวมีการเททิ้งมะม่วง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิจิตรลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว พบว่า เป็นการคัดแยกผลผลิตมะม่วงของผู้รวบรวมเพื่อการส่งออก ซึ่งมีการรับซื้อแบบเหมาและมาทำการคัดแยกที่ตกเกรดหรือไม่ได้คุณภาพออกทิ้ง เนื่องจากเข้าตลาดไม่ได้ซึ่งเป็นการดำเนินการทางการค้าปกติก่อนส่งไปยังตลาดปลายทาง ในส่วนของแนวทางการบริหารจัดการสินค้ามะม่วง ในปี 2565 เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกมากในช่วงเดือนเมษายน 2565 ในแหล่งผลิตสำคัญ
ในจังหวัด เชียงใหม่ พิษณุโลก ลำพูน สุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี พิจิตร นครราชสีมา กรมฯ ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในแหล่งผลิต ดำเนินมาตรการกระจายออกผลผลิต สนับสนุนค่าบริหารจัดการ กก.ละ 3 บาท ปริมาณผลผลิตมะม่วงเป้าหมาย รวม 14,900 ตัน นอกจากนั้น จะมีการเปิดจุดจำหน่ายในรถโมบายการเคหะ ห้างท้องถิ่น และนิคมอุตสาหกรรม อย่างต่อเนื่องตลอดฤดูการผลิต โดยมีเป้าหมายรับผลผลิตมะม่วงในช่วงเดือนเมษายน 2565 ปริมาณไม่น้อยกว่า 8,000 ตัน ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้จะช่วยรักษาเสถียรภาพราคามะม่วงให้อยู่ในเกณฑ์ดีได้ตลอดฤดูการผลิต