ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.ยืนต่อสัญญาสัมปทาน

30 มี.ค. 2565 | 05:40 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2565 | 12:45 น.

ปมร้อนรถไฟฟ้าสายสีเขียวกทม.พร้อมถกคมนาคมตามคำเชิญ 31มี.ค.65 ซัดแรงอย่าทำตัวเป็นป.ป.ช. ยันยึดตามมติ “อัศวิน ขวัญเมือง” อดีตผู้ว่ากทม. -หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เคยอนุมัติ ขยายสัมปทานตามร่างสัญญาร่วมลงทุนสายสีเขียว กรุงเทพธนาคมดำเนินการ จัดซื้อจัดจ้างไม่ขัดกฎหมาย

 

มีกระแสสะพัดว่าวันที่ 29 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะถกปมต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวขณะนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าไม่ขอร่วมประชุมหากมีเรื่องเข้าวาระ และในที่สุด พลเอกประยุทธ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีได้ออกมาดับร้อน ว่ายังไม่มีการพิจารณาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวแต่อย่างใด

 

 

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมทำหนังสือถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ก่อนเสนอ ครม. โดยกทม.ยืนยันว่าต้องการให้เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวจบลงด้วยดี เพราะปล่อยเวลามาเนิ่นนานโดยยึดหลักเกณฑ์เดิมที่พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่ากทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

 เห็นชอบไว้คือต่อสัมปทาน ตามร่างสัญญาร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน)หรือบีทีเอสซีเพื่อปลดล็อคภาระหนี้กว่าหนึ่งแสนล้านบาทรวมถึงการมอบบริษัทลูกอย่างกรุงเทพธนาคมดำเนินการ/จัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่างไม่ขัดต่อกฎหมาย

 

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้กทม.ให้เหตุผลว่า

 

1.กทม.ไม่มีงบประมาณมากพอที่จะนำไปชำระภาระหนี้ค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายทั้งหมดให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หลังรับโอน แต่อาจแบ่งชำระรายงวดโดยของบประมาณสนับสนุน ซึ่งท่ี่ผ่านมาได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันแล้ว

 

2.ในส่วนเส้นทางสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเอกชนเป็นผู้ลงทุนงานโยธาทั้งหมด รัฐมิได้สนับสนุนงบประมาณแต่อย่างใด

 

3.เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวยาวกว่าสายอื่นค่าโดยสารย่อมสูงกว่าเป็นธรรมดา

 

4.กทม.ว่าจ้างเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นผู้เดินรถในเส้นทางส่วนต่อขยายไว้อยู่แล้วจนถึงปี2585 

 

5.รัฐบาลมีคำสั่งให้กทม.ให้บริการส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีเขียวฟรีเพื่อลดภาระค่าครองชีพซึ่งรัฐบาลต้องมีส่วนรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายในส่วนที่กทม.ขาดรายได้

 

กรณีกระทรวงคมนาคมทำหนังสือถึงปลัด กทม. เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว รายงานข่าวจาก กทม. เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากทม. ได้ตอบกลับกระทรวงคมนาคมเรียบร้อยแล้วถึงการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยการตอบกลับถึงกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้ เป็นการตอบกลับในหนังสือที่เคยแจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากผู้ว่ากทม.แล้ว

               

 

สำหรับรายละเอียดการตอบกลับระบุว่าทางกทม.ได้ดำเนินการตามกฎหมายและมอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการแทน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากที่ผ่านมาทางกทม.ได้มีหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถมอบหมายภารกิจให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด

 

ดำเนินการเรื่องดังกล่าวแทนได้หรือไม่ หลังจากนั้นทางกทม.ได้ดำเนินการออกหลักเกณฑ์การมอบหมาย ซึ่งผู้ว่ากทม.ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วตามมาตรา 49 และมอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของบริษัท

ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมเชิญกทม.ไปหารือถึงการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในวันที่ 31 มีนาคมนี้นั้น ทางกทม.พร้อมที่จะเข้าหารือกับทางกระทรวงคมนาคม โดยมีนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม., รองปลัดกทม.และสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ส่วนจะให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าหารือด้วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับปลัดกทม. เป็นผู้พิจารณา ขณะเดียวกัน กทม. ต้องรายงานเพื่อหารือกับกระทรวงมหาดไทยก่อนที่จะเข้าไปหารือกับกระทรวงคมนาคม

               

“การเตรียมความพร้อมในการหารือกับกระทรวงคมนาคมกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ทางกทม.จะนำข้อมูลตามที่เคยแจ้งกับที่ประชุมคณะครม.และกระทรวงคมนาคมตามเดิม ซึ่งการหารือในครั้งนี้ไม่ได้มีการหารือถึงการจัดเก็บค่าโดยสาร แต่เป็นการหารือถึงเรื่องที่กระทรวงขอรายละเอียดเพิ่มเติมเท่านั้น

 

ส่วนเอกสารที่กระทรวงขอเพิ่มเติมตามที่ได้ยื่นหนังสือมา คงต้องดูก่อน เพราะตอนที่ตอบกลับไปได้แนบรายละเอียดไปพร้อมกับหนังสืออยู่แล้ว แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องภายในของเรา เราไม่รู้ว่ากระทรวงมาผิดทางหรือเปล่า เพราะในการจัดซื้อจัดจ้างจะดำเนินการอย่างไรเป็นเรื่องของเรา แต่กระทรวงกลับมาล้วงงานกทม. เขาไม่ใช่ป.ป.ช.นะ”

               

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม (คม.) ได้ส่งหนังสือถึงนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยปลัด กทม.ได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) พิจารณา นอกจากนี้กระทรวงคมนาคม ได้เชิญ กทม.เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปโครงการนี้ ในวันที่ 31 มี.ค.2565

               

ขณะเดียวกันสภากทม.ยังไม่ได้มีการอนุมัติงบประมาณในการชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว มีเพียงเสนอให้ กทม. ของบอุดหนุนจากรัฐบาล เนื่องจากมีนโยบายให้ชะลอการเก็บค่าโดยสาร ทำให้กทม.ต้องรับภาระหนี้ หรือโอนโครงการคืนให้กับรฟม.เท่านั้น

               

สำหรับข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมทำหนังสือขอ กทม.ดังนี้ 1.การขอสำเนาเอกสารการอนุมัติให้ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าพื้นที่ติดตั้งงานระบบไฟฟ้า ที่ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับกทม. ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทร ปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่- คูคต ของ รฟม.ให้ กทม.

 

ที่ข้อ 2.1 กำหนดไว้ว่า รฟม.อนุญาตให้ กทม.เข้าพื้นที่ติดตั้งงานได้ตามความเหมาะสมแต่ กทม.กลับมอบหมายให้กรุงเทพธนาคม เป็นผู้เข้าพื้นที่แทน 2.ขอสำเนามติสภา กทม.ในการอนุมัติให้ กทม.ว่าจ้างกรุงเทพธนาคมเป็นผู้ติดตั้งงานระบบเดินรถ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2528

 

รวมถึงการอนุมัติงบประมาณจากสภา กทม.  3.ขอสำเนามติสภา กทม.ในการอนุมัติให้ กทม.เพื่อว่าจ้างเดินรถดังกล่าว และรายละเอียดขอทราบกรอบระยะเวลา และกรอบวงเงินงบประมาณในการว่าจ้างกรุงเทพธนาคมเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่าเป็นงบประมาณเท่าไหร่