จัดการน้ำภาคกลาง ต้องรวมพลังหนึ่งเดียว

01 เม.ย. 2565 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2565 | 17:15 น.

จัดการน้ำภาคกลางต้องรวมพลังหนึ่งเดียวปัญหาทรัพยากรน้ำน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็ม น้ำเสีย ยังคงดำรงอยู่ สทนช. ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางบูรณาการทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เดินหน้าลุย ตั้งอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค จำนวน 5 ภาค ภาคเหนือ -อีสาน -กลาง -ตะวันออก-ใต้

 

น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวกับการให้ความสำคัญของปัญหาทรัพยากรน้ำ ภายใต้การดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)เพราะสภาพปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็ม น้ำเสีย ยังคงดำรงอยู่

 

แม้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมา ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางบูรณาการทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน แต่อยู่ในระยะเริ่มต้น เพราะถือกำเนิดเพียง 4 ปีเท่านั้น  ภารกิจการขับเคลื่อนงานยังคงต้องผลักดันต่อไป

           

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค จำนวน 5 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมอบหมายให้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อดีตเลขาธิการ สทนช. คนแรกที่เพิ่งเกษียณ เป็นประธานอนุกรรมการฯ กำกับดูแลพื้นที่ภาคกลางรองประธานประกอบด้วย

 

 

เขื่อนกระเสียว

รองเลขาธิการ สทนช. และ รองอธิบดีกรมชลประทาน อนุกรรมการจาก 9 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน  มีผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 2 สทนช. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วมเป็นบทบาทที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ มองสถานภาพน้ำในพื้นที่ภาคกลางอย่างไร? กับ“ปัญหาหลักของภาคกลาง คือการขาดแคลนน้ำ” โดยเขาอธิบายว่า ภาคกลางมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่น้อย ปริมาณความจุก็น้อย  เมื่อเทียบกับความต้องการที่มาก ประกอบด้วยเขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต้องอาศัยแหล่งน้ำในภาคเหนือและภาคตะวันตกเป็นหลักในการส่งน้ำมาหล่อเลี้ยง

เขื่อนสิริกิติ์

โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวมทั้งเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์มองดูพื้นที่ 21 จังหวัด ตั้งแต่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ลงมาจนถึงกรุงเทพฯ และปากน้ำสมุทรปราการ คลุมกาญจนบุรี ไล่ลงถึงประจวบคีรีขันธ์

ลุ่มเจ้าพระยา2

ครอบคลุมพื้นที่ 6 ลุ่มน้ำหลัก ประกอบด้วย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำป่าสัก  ลุ่มน้ำสะแกกรัง และลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ล้วนมีบทบาทสำคัญ เป็นแหล่งผลิตอาหารระดับแนวหน้าของประเทศ และครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศด้วย

           

“ชลประทานสมัยก่อนมีหลักจัดสรรน้ำชัดเจน ฤดูแล้ง น้ำต้นทุนน้อยก็แบ่งปันกัน ปีนี้ส่งให้คลองชลประทานฝั่งซ้าย พอปีหน้าหมุนเป็นฝั่งขวา เกลี่ยประโยชน์กัน ลดปัญหาขาดแคลนน้ำไปในตัว เดี๋ยวนี้ต่างกัน ปลูกทั้งฤดูฝนฤดูแล้ง  แถมยังต้องใช้น้ำร่วมกับระบบประปา และผลักดันความเค็ม จึงไม่มีใครยอมใคร ทำให้การบริหารจัดการน้ำยุ่งยากมากขึ้น”

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

ธนาคารโลกศึกษามา 20 ปี ก่อนให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำนาปรังซึ่งราคาข้าวไม่ดี และใช้น้ำมาก ต้องแก้ไขโดยจัดพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม (โซนนิ่ง) แต่ไม่สำเร็จ

           

ปัญหาขาดแคลนน้ำยังส่งผลให้เกิดโรคแทรกตามมา โดยพ่วงปัญหาน้ำเน่าเสีย ดังกรณีลุ่มน้ำแม่กลองกับลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ และน้ำเค็มรุกล้ำ ดังกรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน

           

ปัญหาในขณะนี้คือฝั่งที่ต้องการใช้น้ำ (Demand Side) ใช้น้ำกันเต็มที่ ในขณะฝั่งจัดหาน้ำ (Supply Side) กลับเผชิญข้อจำกัดมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอุณหภูมิโลก ฝนน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เกิดปัญหาแล้งกลางฤดูฝนบ่อยขึ้น หรือบางทีมีฝนมากผิดปกติจนเกิดอุทกภัย

           

เพื่อให้สถานการณ์น้ำสมดุล จำเป็นต้องจำกัดฝั่งความต้องการด้วย ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี จัดระเบียบการบริหารจัดการน้ำใหม่  โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่มีการใช้น้ำในสัดส่วนมากที่สุดเป็นที่มาของแนวความคิดวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุนล่วงหน้า 1.5 ปี เช่น เริ่มจากฤดูแล้ง 6 เดือน ตามด้วยฤดูฝนอีก 6 เดือน  แล้วเข้าสู่ฤดูแล้ง 6 เดือนอีกถัดไป

 

เพราะจะบริหารน้ำวันต่อวัน ฤดูต่อฤดู เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ต้องบริหารล่วงหน้า 1 ปีครึ่ง เพื่อให้แต่ละภาคส่วนมีเวลาเตรียมการวางแผนการใช้น้ำ โดยระดมทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาบริหารจัดการ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยมีหน่วยงานกำกับอย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยบูรณาการ

 

“ทำเพียงลำพังหน่วยเดียวไม่ได้ ทุกหน่วยต้องเข้ามาร่วมบูรณาการ ตั้งแต่วางแผนและขับเคลื่อนถึงจะสำเร็จ”

 

ในการบริหารจัดการน้ำภาคกลาง ต้องให้เกษตรกรทำนาในฤดูฝนได้เต็มที่ 1 ฤดู พอถึงฤดูแล้งอาจปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย แต่จำเป็นต้องมีหน่วยงานเกี่ยวข้องดูแลตลาดและราคาให้ด้วย ไม่ปล่อยให้เกษตรกรเผชิญหน้าปัญหาเพียงลำพัง เหมือนอย่างที่ผ่านๆ มา จนเกษตรกรมีคำถามว่า ไม่ให้ทำนาปรัง แล้วจะให้ทำอะไร หรือปลูกพืชฤดูแล้ง จะเอาไปขายใคร ตลาดอยู่ตรงไหน

 

“ภาคกลางไม่ต้องจัดโซนนิ่งพืช เพราะเหมาะทำนาอยู่แล้ว แต่ต้องกำหนดนิยามใหม่ ทำนาเต็มที่ 1 ครั้งฤดูฝน ส่วนฤดูแล้ง ถ้าน้ำมากอาจทำนาปรังได้ในบางพื้นที่  ถ้าน้ำน้อยไปปลูกพืชอื่น ต้องจัดระเบียบให้ได้ ไม่งั้นไม่สำเร็จ มีน้ำเท่าไหร่ก็ไม่พอ ส่งผลกระทบต่อน้ำเสีย น้ำเค็มอีกด้วย”

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

แล้วอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคกลาง จะขับเคลื่อนเป็นผลสำเร็จตามที่หวังได้ไหม?ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่างโครงการพัฒนาและฟื้นฟูการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ และ คลองเปรมประชากร มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง มีเจ้าภาพรับผิดชอบแต่ละส่วน ทั้ง Function และ Areaในที่สุดก็ขับเคลื่อนฟื้นฟูชีวิตใหม่ของ 2 คลองดังกล่าวได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

น้ำสะอาดแทนน้ำครำ เพราะผ่านการบำบัดใช้เพื่อการเกษตร การคมนาคม การท่องเที่ยว และเป็นที่เก็บน้ำ-ระบายน้ำได้ด้วย เป็นมิติใหม่ที่คุ้มค่าการลงทุน เพราะเป็นคลองที่มีอยู่เดิมแล้ว เปรียบได้กับคลองชองเกชอน เกาหลีใต้ อายุมากกว่า 600 ปีไหลผ่านกรุงโซล มีน้ำเน่าเสียและขยะ แต่เมื่อฟื้นฟูขึ้นมาใหม่สวยงาม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาล

 

“อย่างโครงการฟื้นฟูคลองแสนแสบ ลงทุน 8 หมื่นกว่าล้านบาท เป็นการบำบัดน้ำเสีย และการใช้ประโยชน์น้ำจากคลองดังกล่าว รวมแล้วมากกว่า 50% ฟื้นฟูสำเร็จเมื่อไหร่ จะเกิดประโยชน์มากมาย”

 

กระนั้นก็ตาม ในความโชคร้ายเรื่องขาดแคลนน้ำ ภาคกลางก็ยังโชคดี ตรงมีกลุ่มลุ่มน้ำสนับสนุน เช่น ลุ่มน้ำแม่กลองส่งน้ำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฤดูแล้งละ 500 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นอย่างน้อย การเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงยังมีแหล่งน้ำบาดาลเป็นตัวช่วยสนับสนุน หรือบางปี แล้งต้นฤดูฝน กลับมีฝนมากในช่วงปลายฤดู

           

ภายใต้อนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคกลาง น่าจะมีเรื่องราวใหม่ๆ ตามมาอีกมาก และน่าจะสนับสนุนบทบาท สทนช. ในการทำหน้าที่บูรณาการได้ดีขึ้น

เขื่อนภูมิพลจังหวัดตาก