แก้มลิงทุ่งหิน หัวใจ สมุทรสงคราม รับมือน้ำหลาก

07 ก.ย. 2564 | 12:32 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2564 | 20:18 น.

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ สนทช. แก้มลิงทุ่งหินหัวใจสมุทรสงคราม พื้นที่สาธารณะกว่า 2,600 ไร่ ต.ยี่สาร ที่รัฐยึดคืนจากผู้บุกรุกในสมัยรัฐบาล คสช. และมีนโยบายใช้เป็นพื้นที่แก้มลิง ทั้งหน่วงน้ำในช่วงน้ำหลาก

 

 

 

 

สมุทรสงคราม มีอำเภอเมืองอยู่ติดกับทะเลอ่าวไทย ถัดจากนั้นเป็นอำเภออัมพวา ทั้งนี้ อัมพวา ติดอยู่กับภาพคลอง ตลาดน้ำ สวนผลไม้ จนคนนึกไม่ค่อยถึงว่าส่วนหนึ่งของอัมพวา ได้แก่ ต.ยี่สาร นั้นมีป่าชายเลน สามารถใช้เรือผ่านคลองยี่สารออกสู่คลองบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และทะเลอ่าวไทยได้เช่นกันตอนปลายของแม่น้ำเพชรบุรี อีกส่วนหนึ่งไหลออกปากน้ำบ้านแหลมโดยตรง อีกส่วนหนึ่งไหลออกปากน้ำบางตะบูน ซึ่งอยู่ใน อ.บ้านแหลม เช่นกัน

พื้นที่ป่าชายเลนมักอัตคัตน้ำจืด ตามบ้านเรือนจึงมีตุ่มน้ำขนาดใหญ่มากมาย ส่วนหนึ่งรองน้ำฝน อีกส่วนหนึ่งไว้รองรับน้ำจืดจากแม่น้ำเพชรบุรีด้วยวิธีการล่มน้ำ คือตะแคงกราบเรือฝั่งหนึ่งให้น้ำไหลเข้าเต็มลำเรือ แล้วลำเลียงน้ำกลับสู่ฝั่ง

 แม้ความเจริญจะมาเยี่ยมกราย ถนนตัดทะลุเลียบป่าชายเลนแถบยี่สารไปออกบางตะบูน บ้านแหลม แต่เรื่องน้ำจืดแล้ว ที่นี่ยังคงอัตคัดขัดสนไม่ใช่น้อย การล่มน้ำก็ยังคงมีอยู่ แม้เหลือเรือรับจ้างล่มน้ำน้อยเต็มที น้ำประปาที่ใช้ก็เป็นน้ำจากที่อื่น กระทั่งน้ำของเอกชนที่ขายให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)

" กปภ.รับซื้อจากเอกชนจากลำน้ำแม่กลอง ลูกบาศก์เมตรละ 26 บาท” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เล่าถึงต้นทุนน้ำของสมุทรสงครามที่แพงมากย้อนแย้งกับภาพอุดมสมบูรณ์ของเมืองอาหารและผลไม้ของสมุทรสงครามอย่างมาก

สมุทรสงคราม เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ประชากรน้อยที่สุดด้วย หนักกว่านั้นไม่มีแหล่งน้ำจืดของตัวเอง ต้องอาศัยน้ำแม่กลองบ้าง  น้ำจากบริษัทเอกชนบ้าง ทุ่งหิน เป็นพื้นที่สาธารณะกว่า 2,600 ไร่ ในพื้นที่ ต.ยี่สาร ที่รัฐยึดคืนจากผู้บุกรุกในสมัยรัฐบาล คสช. และมีนโยบายใช้เป็นพื้นที่แก้มลิง ทั้งหน่วงน้ำในช่วงน้ำหลากและเป็นแหล่งน้ำดิบ สำหรับผลิตน้ำประปาให้ชุมชนในจังหวัด สามารถพึ่งพาตัวเองได้

            "โครงการนี้รับผิดชอบโดยคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามเป็นประธาน และ สทนช.ภาคเป็นกรรมการและฝ่ายเลขานุการ  ท่านเองให้การสนับสนุนทำแก้มลิงอย่างเต็มที่ ทั้งประโยชน์หน่วงน้ำและเป็นแหล่งน้ำดิบความจุ 14-15 ล้านลูกบาศก์เมตร” ดร.สมเกียรติกล่าว

            ประเด็นของแก้มลิงทุ่งหินมีรายละเอียดซับซ้อนและข้อจำกัดที่หลากหลาย ทั้งในแง่หน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คุณภาพของดินและน้ำ ฯลฯ ซึ่งการทำให้ทุ่งหินเป็นแก้มลิงที่สมบูรณ์จำเป็นต้องหาคำตอบให้ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะดำเนินการไปแล้วในบางส่วนก็ตาม

            “ต้องพัฒนาให้ผลกระทบน้อย แต่ได้ผลประโยชน์มาก และยั่งยืนด้วย ดังนั้นแต่ละฝ่ายต้องเสนอข้อจำกัด แล้วมาวางแผนร่วมกัน และตอบโจทย์ให้ได้ เช่น ขุดดินไปเท่าไหร่ สอดรับกับปริมาณความจุมากน้อยแค่ไหนที่ไม่กระทบต่อชั้นความเค็ม ความกร่อย  ดินถมไปไว้ที่ไหน และทางเทคนิคต้องทำได้ด้วย ส่วนความจุอาจได้ 14-15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของพื้นที่”

แก้มลิงทุ่งหิน หัวใจ สมุทรสงคราม รับมือน้ำหลาก

 

แก้มลิงทุ่งหิน รับน้ำจาก อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ผ่านคลองบางเค็ม มาลงคลองประดู่ ก่อนเข้าสู่แก้มลิงทุ่งหิน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง ส่วนในช่วงน้ำหลาก น้ำส่วนเกินระบายออกสู่คลองตรงคต คลองจาก คลองรังนก และออกปากอ่าวบางตะบูนสู่อ่าวไทย

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า จะพยายามผลักดันโครงการแก้มลิงทุ่งหินให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ขณะนี้ส่วนงานเกี่ยวข้องได้เสนอข้อจำกัดเข้ามาแล้ว จากนั้นร่วมกันวางแผนและขับเคลื่อนอย่างจริงจังได้ภายในช่วงปลายปี 2564

 แก้มลิงทุ่งหิน เป็นความหวังของคนสมุทรสงครามที่ยังต้องทำสงครามน้ำจืดต่อไป โดยทุ่งหินจะเป็นคำตอบหนึ่งในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ชุมชน

แก้มลิงทุ่งหิน หัวใจ สมุทรสงคราม รับมือน้ำหลาก

 บางทีเรือล่มน้ำอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไปสำหรับชุมชนยี่สาร แม้จะเป็นวิธีการหาน้ำแบบโบราณ แต่ท่ามกลางความยากลำบากในการเข้าถึงน้ำจืดและมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยแก้มลิงทุ่งหินเข้าไปแทนที่อำนวยความสะดวกถึงกันเป็นสมุทรสงครามที่มีแหล่งน้ำจืด พึ่งพาตัวเองได้เสียที