RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งจากที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 จนถึงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปประเทศสมาชิก RCEP มูลค่าถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.5 ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก และมีการใช้สิทธิ์ RCEP เพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิกมูลค่ากว่า 1,165.52 ล้านบาท
โดยเฉพาะคู่ค้าที่สำคัญของไทย อย่างเช่นจีน สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าพืช ผัก และผลไม้สด ประกอบกับไทยมีอาณาเขตเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีการค้าชายแดนกับ สปป.ลาว ที่สามารถเชื่อมโยงการค้าไปสู่ตลาดจีนได้
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าหลังความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับ กรมมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความตกลง RCEP ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาคลุยตลาด RCEP ทั้ง 14 ประเทศ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ เกษตรกร ผู้ประกอบการ SME นักวิชาการ และภาคประชาสังคม
“ RCEP นอกจากจะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้า บริการและการลงทุนในตลาดการค้าที่ใหญ่ขึ้นแล้วไทยยังได้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม คือเรื่องการลดภาษีระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างโอกาสส่งออกสินค้า ทำให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น”
ทั้งนี้ การมีผลใช้บังคับของความตกลง RCEP เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จับมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ยกขบวนที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้คำแนะนำทางธุรกิจด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสินเชื่อในรูปแบบเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อการส่งออก