อากาศแปรปรวน “ร้อน-แล้ง- สลับหนาว” ต้นทุนพุ่ง เกษตรกรอ่วม

04 เม.ย. 2565 | 10:23 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2565 | 17:42 น.

รัฐพล ศรีเจริญ นักวิชาการอิสระ เขียนบทความเรื่องอากาศป่วนหนัก ร้อน แล้ง สลับหนาว กระทบสัตว์เลี้ยง เกษตรกรต้นทุนพุ่ง หวังผู้บริโภคเข้าใจ ความว่า

 

สภาพอากาศแปรปรวน ร้อนแล้งต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมีนาคม จนเข้าเดือนเมษายน อุณหภูมิทั่วไทยกลับลดลง เกิดอากาศหนาวเย็นฉับพลันและฝนตกมากในบางพื้นที่ จากอิทธิพลของความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกําลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน

 

ความแปรปรวนของสภาพอากาศเช่นนี้ ส่งผลโดยตรงต่อสัตว์เลี้ยง ทั้งหมู ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ที่ไม่สามารถปรับตัวกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ จึงกระทบต่อการให้ผลผลิตและอัตราเสียหายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์มากขึ้น

 

อากาศแปรปรวน “ร้อน-แล้ง- สลับหนาว” ต้นทุนพุ่ง เกษตรกรอ่วม

 

  •  “ไก่ไข่” กระทบร้อน ผลผลิตลด ไข่เล็ก เสียหายหนัก

ไก่เป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อช่วยระบายความร้อน และยังมีขนปกคลุมยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายความร้อนออกจากร่างกาย เมื่ออุณหภูมิสูง 26-32 องศาฯ แม่ไก่จะกินอาหารลดลง กินน้ำมากขึ้น เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย แม่ไก่เกิดความเครียดสะสม การกินอาหารน้อยทำให้สารอาหารที่ได้ไม่เพียงพอกับการสร้างฟองไข่ ผลผลิตไข่ไก่จึงลดลง ขนาดฟองไข่ที่ได้เล็กลง

 

หากอากาศร้อนจัดแม่ไก่จะเริ่มแสดงอาการหอบ อ้าปากหายใจแรงขึ้น เพื่อระบายความร้อน ทำให้ไก่สูญเสียพลังงานไปกับการหอบ และยังทำให้สูญเสีย CO2 ที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการสร้างไข่ ส่งผลให้คุณภาพเปลือกไข่ด้อยลง สีซีด เปลือกบางลง แตกร้าวเสียหายง่ายขึ้น ปริมาณผลผลิตที่ลดลง คุณภาพไข่ไก่ที่ต่ำลง ไข่เสียหายมากขึ้น

 

รวมถึงตัวแม่ไก่ที่เสียหายจากกรณีไข่แตกในท้อง ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนสูงขึ้น เพราะมีตัวหารน้อยลง และไข่ฟองเล็กเกษตรกรจึงขายไข่ได้เฉพาะไข่คละกลางและคละเล็ก ราคาขายที่ได้จะต่ำลง รายได้จึงลดลงตามไปด้วย

 

อากาศแปรปรวน “ร้อน-แล้ง- สลับหนาว” ต้นทุนพุ่ง เกษตรกรอ่วม

 

ความร้อนที่เพิ่มขึ้นมีผลกับอัตราการกินน้ำของแม่ไก่ด้วย โดยอุณหภูมิในโรงเรือนที่ 18-25 องศาเซลเซียส สัดส่วนการกินน้ำต่ออาหารของแม่ไก่จะอยู่ที่ 1.8-2.0 เท่าของอาหารที่กินได้ หากอากาศร้อนขึ้น สัดส่วนการกินน้ำอาจเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 2.6 เท่าของอาหารที่กินได้ เท่ากับต้องใช้น้ำในการเลี้ยงไก่มากขึ้น

 

 

  • อากาศร้อน “ไก่เนื้อ” เครียดกินอาหารน้อย โตช้า ต้นทุนสูง

ไก่เนื้อที่เลี้ยงในโรงเรือนเปิดมักพบปัญหา การกินอาหารน้อยลงจากความเครียดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ไก่โตช้า ใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น มีอัตราป่วยและเปอร์เซ็นต์ตายเพิ่มขึ้น เกษตรกรต้องเน้นการเลี้ยงไม่ให้มีปริมาณหนาแน่นเกินไป  มีการจัดการเพื่อลดความร้อนให้กับโรงเรือนเลี้ยง อาทิ สเปรย์น้ำบนหลังคา ควบคู่กับการเปิดพัดลมระบายอากาศนานขึ้น ในกรณีร้อนจัดต้องตัดสินใจลงเลี้ยงไก่ให้บางกว่าช่วงปกติ

 

อากาศแปรปรวน “ร้อน-แล้ง- สลับหนาว” ต้นทุนพุ่ง เกษตรกรอ่วม

 

กรณีเลี้ยงไก่ในโรงเรือน EVAP ที่สามารถลดอุณหภูมิในโรงเรือนได้ดีกว่า แต่ก็จำเป็นต้องปรับสภาพอากาศภายในให้เหมาะสม ทั้งการเปิดน้ำหล่อเลี้ยงระบบความเย็นและเปิดพัดลมระบายอากาศตลอดเวลา และต้องระวังความชื้นและก๊าซแอมโมเนียในโรงเรือน  และสิ่งสำคัญที่สุดคือน้ำ ที่ต้องจัดเตรียมไว้อย่างเพียงพอตลอดเวลา น้ำต้องสะอาด เกษตรกรต้องลงทุนปรับคุณภาพน้ำให้เหมาะสม และเพิ่มต้นทุนการเสริมวิตามินอิเลคโตรไลท์ หรือโปแตสเซียมคลอไรด์ ที่มีรสเค็มเล็กน้อยเพื่อช่วยกระตุ้นการกินน้ำ ช่วยให้ระบายความร้อนจากร่างกายได้ดีขึ้น

 

  • “หมู” ร้อนแม่อุ้มท้องเสียหาย หมูขุนโตช้า

หมูเป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ จึงระบายความร้อนออกจากร่างกายด้วยการหอบหายใจ อาการนี้หากเกิดในแม่หมูอุ้มท้อง อาจทำให้เกิดการแท้ง หรือลูกตายในท้อง มีลูกมัมมี่มากขึ้น อัตราเข้าคลอดต่ำ ลูกแรกคลอดน้อยลง แม่เครียดจากอากาศส่งผลให้การเลี้ยงลูกได้ต่ำลง อาจเกิดอาการน้ำนมแห้ง ลูกอุจจาระเหลว ส่วนลูกหมูที่รอดจะอ่อนแอ น้ำหนักหย่านมต่ำ เมื่อนำไปเลี้ยงเป็นหมูอนุบาลหรือหมูขุน อัตราการเจริญเติบโต (ADG) จะต่ำ อากาศร้อนจัดทำให้หมูอยู่ไม่สบาย จึงกินอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้อัตราแลกเนื้อ (FCR) แย่ลง และอัตราเสียหายมักสูงขึ้นตามไปด้วย

 

อากาศร้อนรุนแรง ส่งผลให้หมูเนื้อที่เข้าสู่ตลาดมีน้ำหนักลดลงตัวละประมาณ 3-5 กิโลกรัม น้ำหนักที่หายไปกระทบกับรายได้ของเกษตรกร และมีผลโดยตรงต่อปริมาณเนื้อหมูที่ขายในท้องตลาด ซึ่งเป็นเหตุผลให้ราคาหมูค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ ตามปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดน้อยลง เมื่อผนวกกับความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นในช่วงนี้เทศกาลสงกรานต์ด้วยแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาหมูจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามกลไกตลาด

 

อากาศแปรปรวน “ร้อน-แล้ง- สลับหนาว” ต้นทุนพุ่ง เกษตรกรอ่วม

 

ทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบจากที่เกิดจากอากาศร้อนแล้ง ที่มีผลต่อต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้น ยังไม่นับต้นทุนอื่น ๆ ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกวัน ซึ่งเกษตรกรต้องแบกรับอยู่ในขณะนี้ และค่าน้ำใช้ที่จำเป็นต้องซื้อเพิ่มในช่วงวิกฤติแล้ง และต้องมีการลงทุนปรับคุณภาพน้ำด้วย รวมถึงค่าไฟในการทำความเย็นด้วยระบบ EVAP ค่าน้ำมันสำหรับเดินมอเตอร์พัดลมท้ายโรงเรือน การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อเปิดพัดลมในเล้าช่วยระบายอากาศ

 

วันนี้ผู้บริโภคอย่างเรา รวมถึงภาครัฐ ต้องเห็นความจริงเรื่องต้นทุนและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศ และทำความเข้าใจเรื่องราคาสินค้าเกษตรว่ามีขึ้น-มีลง “ตามกลไกตลาด” ที่มีความต้องการบริโภคและปริมาณผลผลิตเป็นตัวกำหนด และต้องไม่ลืมว่ากว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ให้เราได้รับประทานนั้น ย่อมมีต้นทุน ต้องใช้เวลา มีความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ และเกษตรกรต้องทุ่มเทกับอาชีพ เพื่อสร้างอาหารที่เพียงพอสำหรับผู้บริโภค