วันหยุดสงกรานต์ ประกันสังคมดูแลผู้ประกันตน ป่วยแบบไหนเข้า ไม่เข้าเกณฑ์

12 เม.ย. 2565 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2565 | 09:56 น.

วันหยุดสงกรานต์ 2565 ประกันสังคม ดูแลผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 เเต่ว่าป่วยแบบไหนถึงจะเข้า ไม่เข้าเกณฑ์

วันหยุดสงกรานต์ 2565 หลายคนคงกลับบ้านต่างจังหวัด หรือไม่ก็ต้องวางแผนไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แต่ว่าถ้าหากป่วยจะทำอย่างไร โดยเฉพาะผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ประกันสังคมเบิกอะไรได้บ้าง ได้สิทธิอะไรบ้าง  แล้วป่วยแบบไหนเข้าเกณฑ์ ไม่เข้าเกณฑ์บ้าง

ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39

เมื่อประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผู้ประกันตนมีสิทธิเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลใดก็ได้ ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน

วิธีการขั้นตอนการเข้ารับการรักษา

  • แสดงบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อใช้สิทธิ
  • เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560
  • หากผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินขั้นวิกฤติไม่สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลตามสิทธิได้
  • หากเข้าหลักเกณฑ์ไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย

 

อาการผู้ป่วยที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่เข้าเกณฑ์

  • หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  • หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
  • ป่วย ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
  • เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก
  • พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
  • มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

 

กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม

  • ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่ประกาศคณะกรรมการแพทย์กำหนดครอบคลุม 72 ชั่วโมงไม่นับรวมวันหยุดราชการ

 

กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน/ฉุกเฉินวิกฤติ

  • ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและให้รีบแจ้งสถานพยาบาลตามสิทธิเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ภายใน 72 ชั่วโมง

 

ผู้ประกันตนมาตรา 40

  • มีสิทธิประกันสังคมการรักษาพยาบาล โดยใช้สิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้

 

เงื่อนไขการรับสิทธิ ผู้ประกันตนตามมาตรา 40

  • ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 เดือน ก่อนเดือนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ซึ่งจะมีทั้งหมด 3 ทางเลือก

 

ทางเลือกที่ 1 และ 2

  • ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 
  • นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ได้รับวันละ 300 บาท
  • ไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้รับวันละ 200 บาท
  • ไปพบแพทย์ (ผู้ป่วยนอก) และแพทย์ไม่มีความเห็นให้หยุดพักรักษาตัว หรือ ให้หยุดพักรักษาตัวไม่เกิน 2 วัน (มีใบรับรองแพทย์มาแสดง) ได้รับครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง ต่อปี

 

ทางเลือกที่ 3

  • ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 
  • นอนพักรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ได้รับวันละ 300 บาท
  • ไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้รับวันละ 200 บาท
  • ภายใน 1 ปี รับสิทธิตาม (1) และ (2) รวมกันไม่เกิน 90 วัน
  • สิทธิการรักษาใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ/บัตรทอง (สปสช.) หรือสิทธิเดิมที่มีอยู่