“เงินช่วยเหลือชาวนา” ยังวุ่น นักวิชาการ ผวาปลุกผี “จำนำข้าว” พาชาติล่ม

20 เม.ย. 2565 | 02:53 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 12:59 น.

“เงินช่วยเหลือชาวนา” ไร่ละ 1,000 บาท ยังวุ่น ขาดกว่า 187 ล้านบาท เตรียมโยกงบ “ประกันรายได้ข้าว” จ่าย จ่อชง นบข. นำเสนอ ครม. ไฟเขียว นักวิชาการผวานักการเมืองปลุกผี “จำนำข้าว” ขายฝันชาวนารับเลือกตั้ง พาชาติล่มจม ชี้ “ประกันรายได้” ยังมีดีมากกว่า แต่ควรปรับโครงสร้างใหม่

 ความคืบหน้า “เงินช่วยเหลือชาวนา” ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดได้รับเงิน 2 หมื่นบาท วงเงิน 54,972.72 บาท จำนวนเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์ กว่า 4.6 ล้านราย ผลการดำเนินงาน ล่าสุด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แจ้งในที่ประชุมว่า มีจำนวนเงินคงเหลือไม่เพียงพอสำหรับการจ่ายชดเชยให้เกษตรกร เนื่องจากสาเหตุปีนี้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้งบประมาณสำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการไม่เพียงพอนั้น ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ

 

แหล่งข่าวคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างและการชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน จากการหารือได้มีมติ เห็นชอบแนวทางของบประมาณโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 เพิ่มเติมเพื่อจ่ายเงินให้เกษตรกร ในส่วนที่วงเงินคงเหลือ 187.53  ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)  ที่ไม่เพียงพอ โดยให้ใช้วงเงินคงเหลือของโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

 

 

“เงินช่วยเหลือชาวนา” ยังวุ่น นักวิชาการ ผวาปลุกผี “จำนำข้าว” พาชาติล่ม

 

ปัจจุบัน ธ.ก.ส. โอนจ่ายเงินเงินประกันรายได้ข้าว  งวดที่ 1-25  จำนวน 4.66 ล้านครัวเรือน วงเงิน กว่า 8.6 หมื่นล้านบาท  วงเงินคงเหลือ 1,432.92 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้จำนวน 87,532.30 ล้านบาท ดังนั้นในที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบแนวทางการจ่ายเงินวงเงินคงเหลือ 187.53 ล้านบาท  จำแนกเป็น 1.จ่ายให้เกษตรกรทุกภาคที่ปลูกก่อน 16 มิถุนายน 2564 วงเงิน 166.50 ล้านบาท  และ 2. จ่ายให้เกษตรกรภาคใต้และภาคตะวันตกที่ปลูกข้าวตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2564  เป็นต้นไป โดยให้ ธ.ก.ส. พิจารณาจ่ายเงินให้เกษตรกรตามความเหมาะสม

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หากมีการโยกงบประมาณนั้นจะต้องเสนอเรื่องเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอีกครั้ง เบื้องต้นจะเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการก่อนเสนอ ครม.ต่อไป นอกจากนี้ยังต่อขยายระยะเวลาการจ่ายเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการฯ หรือเงินช่วยเหลือชาวนาจะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้ จะต้องขอขยายระยะเวลาต่อไป

 

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า วันนี้ข้าวไทยแข่งขันสู้คู่แข่งไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง เปรียบเทียบข้าวสาลี-ข้าวโพด ปรับราคาสูงกว่า 50% แต่ข้าวปรับราคาสูงขึ้นแค่ 10% อินเดียก็ยังส่งออกข้าวขาว 5% ในราคา 370 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวชนิดเดียวกันของไทยขายในราคา 420 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ข้าวเวียดนาม 410 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพราะฉะนั้นยังมองว่า อินเดียและเวียดนามยังเป็น 2 ประเทศที่เป็นตลาดหลักในการป้อนข้าวโลกและยังได้เปรียบในการแข่งขัน

 

ทั้งนี้เมื่อมาดูวิธีการของพรรคการเมืองที่จะหาเสียงจากชาวนาได้ง่ายที่สุดก็น่าจะมาจากนโยบาย “จำนำข้าว” ราคาสูง หรือ “ประกันรายได้” ที่ควรจะปรับเป้าหมายให้ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ปัจจุบันการจ่ายเงินให้เกษตรกรไม่ได้ปรับ Mindset (ความคิด/แนวคิด) เพื่อสร้างเกษตรกรให้ปรับตัวไปอยู่ในฐานเศรษฐกิจใหม่ ดังนั้น อาจจะมีสร้างเงื่อนไข เช่น ให้การสนับสนุน 2 ปี จากนั้นจะต้องเปลี่ยนไปตามเงื่อนไข ถ้าไม่เปลี่ยนจะไม่ให้การช่วยเหลือ ไม่เช่นนั้นเกษตรกรก็จะถูกแช่แข็ง จะไม่เปลี่ยนไปไหน ยังหวังที่จะได้ผลตอบแทนฟรีจากรัฐบาลไปตลอด

 

 “วันนี้โลกเปลี่ยน แต่นักการเมืองไทยไม่เปลี่ยน แต่ถ้าเปรียบเทียบ 2 โครงการ ระหว่าง “จำนำข้าว” ในราคาสูง ร้ายกว่าประกันรายได้เสียอีก เพราะเป็นการรวบตลาดอยู่ในมือรัฐบาล แต่ “ประกันรายได้” ยังปล่อยไปตามกลไกตลาด ชดเชยส่วนต่าง วันนี้นักการเมืองกล้าหรือไม่ ที่จะลดราคาประกันรายได้ข้าวลงมา พร้อมกับให้เงินสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเท่านั้น” รศ.สมพร กล่าว

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,775 วันที่ 17-20 เมษายน 2565