นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ต้องขอขอบคุณที่ ภาครัฐรับฟังเสียงผู้ประกอบการและประชาชน ที่ ยกเลิกตรวจ RT-PCR ทั้งหมดในวันที่ 1 พ.ค.นี้ เชื่อว่าส่วนนี้จะช่วยดึงบรรยากาศการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักได้
ภาคการค้าและบริการจะได้กลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งภาคเอกชนก็จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการช่วยทำตามมาตรการต่างๆ ที่ช่วยดูแลและป้องกันการระบาดเพิ่ม รวมถึงรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย เพื่อให้เป็นการสนับสนุนการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในระยะต่อไป
สำหรับประเด็นกระตุ้นเศรษฐกิจต่อนั้น ที่ได้เสนอมาตรการ คนละครึ่งเฟส 5 ไปนั้น แม้ว่าประชาชนจะเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าสถานการณ์ตามปกติ ซึ่งควรเร่งกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโมเมนตัมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น จากการคำนวน คนละครึ่งเฟส 5 รอบนี้
หากมีการให้ คนละ 1,500 บาท อีกรอบ รัฐบาลก็จะใช้งบประมาณ ประมาณ 45,000 ล้านบาท (30 ล้านคน) ซึ่งส่วนนี้ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเงินเข้าระบบ 90,000 ล้านบาท ตรงนี้จากการคำนวนแล้วจะมีการทำให้ GDP ตัวเลขดีขึ้นได้ถึง 0.63-0.65% ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้การเติบโตของ GDP ประเทศไทยนั้นได้อยู่ช่วงเกิน 3% แน่นอน
“หอการค้าฯ เข้าใจดีกว่าภาครัฐเองต้องพยายามรักษาวินัยทางการเงินการคลัง เพราะที่ผ่านมามีการใช้เงินในมาตรการต่าง ๆ ไปมากพอสมควร แต่หากมีการกระตุ้นต่อเนื่องไปอีกสักระยะ จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะนอกจากจะช่วยให้มีเม็ดเงินเติมเข้าไปในระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยประคองให้ภาคธุรกิจรายย่อยอยู่ได้ รวมถึงประคองการจ้างงานให้ยังอยู่ต่อไป นอกจากนั้น ต้องไม่ลืมว่าในเดือนหน้ายังมีความท้าทายอีกหลายอย่างที่รออยู่ โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันดีเซล ที่จะกระตุกให้เศรษฐกิจของประเทศชะงักลงไปอีก” นายสนั่น กล่าว
นอกจากนั้น ในเดือนพฤษภาคมนี้ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตร จะสิ้นสุดลง ดังนั้น หากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศสูงขึ้นมาเป็น 35-36 บาทต่อลิตร จากการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า หากนำมันดีเซล มีการขยับราคาขึ้น 10% ธุรกิจจะยังสามารถประคองธุรกิจ ตรึงราคาต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือน
และเมื่อราคาขยับเข้าใกล้ 35 บาท อาจจะเริ่มเตรียมตัวปรับขึ้นราคาสินค้า ดังนั้น ภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว สำหรับการรับมือในสถานการณ์ครั้งนี้ เพื่อชะลอและลดผลกระทบต่อสถาการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงที่สำคัญที่ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย