ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุมรัตนรังสรรค์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดระนอง อ.เมืองระนอง จ.ระนอง นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่,ตรัง,พังงา,ภูเก็ต,ระนองและสตูล) ครั้งที่ 3/2565 พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง
การประชุมครั้งนี้มีนายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กกร.)กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน หัวหน้าส่วนราชการภาครัฐ ผู้นำองค์กรภาคเอกชน เข้าร่วม
ที่ประชุมได้รายงานสรุปภาพรวมด้านเศรษฐกิจของไทย แนวโน้มสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อคราวประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ พร้อมนี้ได้มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติ กรอ.กลุ่มจังหวัด นโยบายเร่งด่วนและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในประเด็นความก้าวหน้าโครงการต่าง ๆ อาทิเช่น
โครงการศึกษาเส้นทางรถไฟชุมพร – ท่าเรือน้ำลึกระนอง ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ความก้าวหน้าการศึกษาแผนแม่บทยุทธศาสตร์มารีไทม์ฮับ (Maritme Hub) ของกรมเจ้าท่า ความก้าวหน้าขุดขยายร่องท่าเรือน้ำลึก จังหวัดระนอง ให้มีความลึก 18 เมตร และท่าเรือนาเกลือ จังหวัดตรัง ให้มีความลึก 8 เมตร กว้าง 100 เมตร ตามมดิ ครม. เมื่อคราวประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดสงขลา ของกรมเจ้าท่า
ความก้าวหน้าและแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ Andaman Wellness Coridor (AWC) ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ความก้าวหน้าการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ Specialised Expo ณ จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่องาน EXPO – 2028 Phuket, Thailind ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
สำหรับจังหวัดระนองได้เสนอโครงการให้ที่ประชุมฯ ได้พิจารณา โครงการขุดลอกร่องน้ำท่าเรืออเนกประสงค์ระนอง อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ซึ่งเป็นร่องน้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ กรมเจ้าท่ามีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำตามธรรมชาติให้เพียงพอ ต่อเนื่อง สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล จึงมีความจำเป็นต้องขุดลอกร่องน้ำระนอง เพื่อให้การเดินเรือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยตลอดทั้งปี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้าน โดยรูปแบบการขุดลอกที่เหมาะสมคุ้มค่าต่อการลงทุน
ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ศึกษาและออกแบบที่มีความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม ตลอดความยาว 28 กิโลเมตร ให้มีความกว้าง 120 เมตร และมีความลึก 12 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด มีปริมาณการขุดลอก 5,703,620 ลูกบาศก์เมตร โดยแนวทางจัดการทิ้งวัสดุขุดลอกในทะเลห่างจากปากร่องน้ำ 10 กิโลเมตร บนพื้นที่ขนาด 1 ตารางกิโลเมตร ที่ระดับความลึกมากกว่า 20 เมตร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยจะดำเนินการในปี 2566 ในวงเงินงบประมาณกว่า 496.46 ล้านบาท แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ระยะแรกในการปรับปรุงท่าเทียบเรือที่ 1 (ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ รองรับสินค้าทั่วไปขนาด 500 GT พร้อมกัน 2 ลำ ปรับปรุงท่าเทียบเรือที่ 2 (ท่าเทียบเรือตู้สินค้า) และระยะที่ 2 ก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ 3 ก่อสร้างลานวางตู้สินค้าส่วนต่อขยาย ทั้ง 2 ระยะ รองรับตู้ 499,226 TUEs ต่อปี
ส่วนโครงการที่ 2 โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งเขตประกอบอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมงและอุตสาหกรรมอื่น ๆ จังหวัดระนอง เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(SEC) และด้วยจังหวัดระนองเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน และติดกับประเทศเมียนมา ส่งผลให้มีสัตว์น้ำขึ้นท่าเป็นจำนวนมาก เหมาะสมต่อการจัดตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการประมง โลจิสติกส์ การซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ และ/หรือ สถานีขนส่งสินค้า หรือศูนย์กระจายสินค้า ในพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และ BIMSTEC ทั้งในมิติกายภาพ มิติการตลาด มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น จึงควรศึกษาเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา และตัดสินใจดำเนินการ ให้บรรลุตามยุทธศาสตร์และเป้าประสงค์ ทั้งในจังหวัด ภาคและประเทศ และเพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ และทางออกทางทะเลของภาคใต้ตอนบน โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 13 ล้านบาทในการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ โดยพื้นที่เหมาะสมคือ ที่บ้านสามแหลม ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง ขนาดพื้นที่ 415 ไร่
ส่วนความก้าวหน้าโครงการในพื้นที่อื่น มีอาทิ พิจารณาความเป็นไปได้ในการเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทางทะเลในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เสนอโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)/กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
การขอความเห็นชอบในการสนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการปรับปรุงผิวถนน และขอขยายช่องจราจร ถนนสายสิเกา-ควนกุน (4046) ช่วงกิโลเมตรที่ 38+000-45+000 เสนอโดยสำนักงานจังหวัดตรัง และพิจารณาขอความเห็นชอบ ในการผลักดันให้มีการสำรวจออกแบบปรับปรุงท่าเทียบเรือ ควนตุ้งกู หมู่ที่ 3 บ้านควนตุ้งกู ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เสนอสำนักงานจังหวัดตรัง เป็นต้น