สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง โพสต์เฟซบุ๊ก แจ้งข่าวดี ถึงสถานการณ์ราคาราคาทุเรียนไทย ณ ตลาดเจียซิง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ราคากล่องละ 1,000 - 1,100 หยวน (6 ลูก) ตลาดเจียซิงเริ่มเปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 65 และ วันที่ 21 เม.ย. 65 มีทุเรียนไทยเข้ามาจำหน่ายในตลาด 2 ตู้ ราคาสูงกว่าปีที่แล้วเกือบ 40% เป็นข่าวดีของชาวสวนไทย
ในเพจเฟซบุ๊ก ยังมีรายงานข่าวจาก สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง, ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ นครกว่างโจว และ ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ นครเซี่ยงไฮ้ โพสต์อัพเดด สถานะของด่านนำเข้าผลไม้ไทยที่สำคัญของจีน ณ วันที่ 22 เมษายน 2565 ทั้งหมด 11 ด่าน ที่น่าสนใจ
เริ่มจากด่านทางบก “โหย่วอี้กวน" เขตฯ กว่างซีจ้วง (รถบรรทุก) สถานะเปิด รถขนสินค้าจากฝั่งเวียดนามผ่านด่านได้วันละประมาณ 30 - 60 คัน, มีรถบรรทุกรอข้ามด่านหูหงิฝั่งเวียดนาม 1,324 คัน เวลาทำการ 08.00 - 19.00 น. (จีน) ข้อคิดเห็น/ข้อแนะนำ ควรหลีกเลี่ยงเส้นทาง
"รถไฟผิงเสียง" เขตฯ กว่างซีจ้วง (รถบรรทุก+รถไฟ) งดนำเข้าผลไม้ชั่วคราว ผู้ให้บริการรับขนส่งผลไม้ผ่านด่านรถไฟผิงเสียงแจ้งขอชะลอการรับขนส่งผลไม้ไทย เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่ควบคุมตรวจสอบผลไม้นำเข้าที่ด่านรถไฟผิงเสียง คาดว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จวันที่ 28 เมษายน 2565 ข้อแนะนำ/ข้อคิดเห็น ควรหลีกเลี่ยงเส้นทาง
ด่าน "ตงซิง" เขตฯ กว่างซีจ้วง (รถบรรทุก) (สถานะปิด) ด่านตงซิงปิดรับการนำเข้าผลไม้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 65 เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิดในพื้นที่ มีรถบรรทุกรอข้ามด่านมองก๋าย ฝั่งเวียดนาม จำนวน 857 คัน แนะนำ ควรหลีกเลี่ยงเส้นทาง
ด่าน "โม่ฮาน" มณฑลยูนนาน (รถบรรทุก) สถานะเปิดรถขนส่งสินค้าฝั่งลาวผ่านเข้าด่านเฉลี่ยวันละ 200 คัน ขึ้นอยู่กับการรองรับรถขนส่งสินค้าที่คลังสินค้าฝั่งจีน เวลาทำการ 08.30 - 21.00 น. (17.30 - 21.00 น. ให้รถบรรทุกเปล่าผ่าน) ข้อแนะนำ ยังสามารถขนส่งสินค้าได้ปกติ แต่ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต้องป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิดและฆ่าเชื้อสินค้าอย่างเคร่งครัด
ด่านเซินเจิ้นวาน (เรือฮ่องกง+รถบรรทุก) สถานะเปิด ด่านมีความเข้มงวดในการบริหารการจัดการขนส่งสินค้าข้ามแดนเซินเจิ้น-ฮ่องกงในรูปแบบระบบปิด สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในฮ่องกง อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า ด่านนี้ยังสามารถรองรับการขนส่งผลไม้ได้
ด่านท่าเรือ มี 4 ด่าน เริ่มจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ สถานะเปิด นครเซี่ยงไฮ้ล็อกดาวน์มีสินค้าตกค้างที่ด่านจำนวนมาก, เรือจอดรอเทียบท่าจำนวนมาก บริษัทขนส่งบางรายยกเลิกการเทียบท่าเซี่ยงไฮ้ข้อแนะนำ หลีกเลี่ยงหรือตรวจสอบข้อมูลการขนส่ง
ท่าเรือชินโจวเขตฯ กว่างซีจ้วง เปิด มีเที่ยวเรือในเส้นทางระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือชินโจวสัปดาห์ละ 4 - 7 เที่ยว ระยะเวลา 3 - 8 วัน ระยะเวลาในการตรวจปล่อยและผ่านโกดังห่วงโซ่ควบคุมความเย็น (ตรวจกรดนิวคลีอิกและฆ่าเชื้อรอบด้าน) ประมาณ 3 - 4 วัน ยังสามารถรองรับการขนส่งผลไม้ได้
ท่าเรือเสอโข่วเซินเจิ้น สถานะเปิด เนื่องจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงยังมีการแพร่ระบาดโรคของโควิด-19 และความล่าช้าในการตรวจปล่อยสินค้าที่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้เรือบางส่วนจึงเปลี่ยนไปใช้บริการท่าเรือเสอโข่ว ทำให้จำนวนเรือเทียบท่าเพิ่มขึ้น ในขณะที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรปฏิบัติงานในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวด
มีเที่ยวเรือในเส้นทางระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือเสอโข่วเฉลี่ยวันละ 1 - 4 เที่ยว ระยะเวลา 6 - 11 วัน (ส่วนใหญ่เป็นเรือที่ออกจากท่าเรือแหลมฉบังแวะท่าเรือหนานซาของกว่างโจวก่อนมาท่าเรือเสอโข่วของเซินเจิ้น) ยังสามารถรองรับการขนส่งผลไม้ได้
"ท่าเรือหนานซากว่างโจว" สถานะเปิด มีเที่ยวเรือในเส้นทางระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือหนานซาเฉลี่ยวันละ 1 - 3 เที่ยว ระยะเวลา 5 - 9 วัน ยังสามารถรองรับการขนส่งผลไม้ได้
ส่วน ด่านท่าอากาศยาน มี 2 สนามบิน สนามบินเซินเจิ้น เป่าอัน สถานะเปิด มีเที่ยวบินคาร์โกของบริษัท S.F. รองรับน้ำหนักบรรทุกประมาณ 25 ตัน/เที่ยว จากสนามบินสุวรรณภูมิไปสนามบินเซินเจิ้น สัปดาห์ละ 6 เที่ยว (ยกเว้นวันเสาร์) ยังสามารถรองรับการขนส่งผลไม้ได้
สนามบินเซี่ยงไฮ้ ผู่ตง เปิด แต่นครเซี่ยงไฮ้ล็อกดาวน์ สนามบินใช้ระบบเคลียร์สินค้าแบบ paperless แต่การขนส่งสินค้าผ่านเมืองเซี่ยงไฮ้ค่อนข้างลำบาก ข้อคิดเห็น/ข้อแนะนำ หลีกเลี่ยงหรือตรวจสอบข้อมูลการขนส่ง
อ้างอิงข้อมูล (อ่านที่นี่)
ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ นครกว่างโจว ได้รวบรวมและจัดทำข้อมูลราคาขายส่งผลไม้ไทยที่จำหน่ายในตลาดค้าส่งผักและผลไม้เจียงหนาน นครกว่างโจว
ด้าน เพจเฟซบุ๊ก DMA สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด โพสต์สะท้อนความรู้สึกของผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ และ พ่อค้าจีน สู้สุดฤทธิ์ หาทุกวิถีทางส่งทุเรียน มังคุด สู่เมืองจีน ปัญหาการส่งออกที่หนักหน่วง สำหรับปี 2565 นี้ คือระบบการขนส่ง ที่ได้รับผลกระทบมาจากมาตราการเข้มข้น "Zero Covid" ของจีน ซึ่งเส้นทางหลักการขนส่งทางบก คือ
1. ผ่านด่านนครพนม
2.ด่านเชียงของ
ทั้งนี้เส้นทางแรก ที่เคยเป็นเส้นทางหลัก ปีนี้ดูเหมือนจะมืดมน ด้วยมาตราการเข้มข้น รวมถึงการที่ผลไม้ของเวียดนามบางตัวออกช่วงเดียวกับผลไม้ไทย ทำให้รถขนส่งผลไม้ของไทยผ่านได้เพียงวันล่ะไม่กี่คัน
ส่วนเส้นทางที่ 2 ระบบการขนส่งต่างๆยังไม่สะดวกพอ ถ้าผลไม้ไทยเข้าเกินวันล่ะ 100 ตู้ขึ้นไป ไม่น่าจะรับศึกไหว โดยทั้ง 2 เส้นทางนี้มีมาตรการตรวจเข้ม ถ้ามีการตรวจพบโควิดที่รถ คนขับ หรือกล่องผลไม้ อาจจะมีการทำลายทิ้งทันทีหรือปิดรับผลไม้ชนิดนั้นนั้นแล้วแต่วันเวลาไม่มีความแน่นอน
ข้อมูลต่างๆโดยเฉพาะในเรื่องจำนวนของการปล่อยตู้แต่ละวัน น่าจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ส่งออก เพื่อคำนวณความสะดวกของเส้นทาง ระยะเวลาการเดินทาง หรืออุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ การอัพเดทข่าวสารต้องมีความว่องไวพอสมควร เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีปัญหา และไปใช้เส้นทางในการขนส่งที่สะดวกยิ่งขึ้น
ในปีนี้ระบบการขนส่งได้ใช้ทุกระบบ ทั้งทางเรือ ทางบก ทางเครื่องบินและทางรถไฟ ไม่มีการจำกัดราคาค่าขนส่ง ขอแค่ส่งผลไม้ไปให้ถึงจีนเท่านั้น ดังนั้นในปีนี้ข้อมูลข่าวสารต่างๆในเรื่องของจำนวนการขนส่งแต่ละเส้นทางมีความสำคัญมากๆกับผู้ประกอบการเพื่อใช้พิจารณาในการส่งออกผลไม้ต่อไป ณ ปัจจุบัน การส่งออกทุเรียนประมาณ วันล่ะ 200 ตู้