ทุเรียนสด ผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของไทยปี 2564 ส่งออกได้กว่า 109,205 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกไปจีนสัดส่วน 90% มูลค่า 104,400 ล้านบาท ปีนี้กำลังเผชิญความท้าทายจากมาตรการซีโร่ โควิด (Zero Covid) หรือโควิดเป็นศูนย์ของจีน เป็นอุปสรรคสำคัญจากทางการจีนจะตรวจรถทุกคันและสินค้าทุเรียนทุกตู้ที่ส่งผ่านด่านจีน ทำให้การขนส่งติดขัดที่ด่านนำเข้าอย่างหนักในหลายด่านในช่วงที่ผ่านมา ต้องใช้เวลาหลายวัน ทำให้สินค้าเสียหาย
ขณะเดียวกันจีนได้กำหนดมาตรการนี้ทุกช่องทางด่านนำเข้าทั้งทางเรือ ท่าอากาศยาน และด่านทางบกกว่า 100 ด่านตลอดพรมแดนรอบประเทศ โดยเมื่อตรวจพบจะแจ้งเตือนให้แก้ไขปรับปรุงภายใน 3-5 วันไปจนถึงการปิดด่านหรือระงับการนำเข้า(เฉพาะด่าน) ล่าสุดในรอบเดือนเมษายนมีสินค้าทุเรียนจากไทยผ่านด่านโมฮ่านของจีนถูกตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อโควิดแล้ว 3 ครั้ง ทางจีนได้แจ้งให้ดำเนินการแก้ไข ขณะที่กรมวิชาการเกษตรได้สั่งแบนโดยระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชในสินค้าที่มาจากโรงคัดบรรจุ(ล้ง) 10 ราย จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายและน่าเป็นห่วงของการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนที่เป็นตลาดใหญ่สุด โดยได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกปีนี้จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว (ปี 2564 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนรวมฮ่องกง 104,400 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์) จากปีนี้คาดการณ์ว่าไทยจะมีผลผลิตทุเรียนกว่า 1.4 ล้านตัน (จากปี 2564 มีผลผลิต 1.15 ล้านตัน) แบ่งเป็นภาคตะวันออก 729,110 ตัน (จากปี 64 ผลผลิต 575,542 ตัน) โดยผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่เดือนมีนาคม-กรกฎาคม โดยพฤษภาคมทุเรียนภาคตะวันออกจะให้ผลผลิตสูงสุด (ช่วงพีค) คาดไม่ต่ำกว่า 350,000 ตัน
ส่วนทุเรียนภาคใต้(ในฤดู)เริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม โดยเดือนกรกฎาคมจะให้ผลผลิตสูงสุด คาดไม่ต่ำกว่า 200,000 ตัน ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในทุกภาคมีปัจจัยจากมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น ทดแทนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลอื่น ๆ จากราคาทุเรียนดีมาตลอดช่วง 6-7 ปีจูงใจเกษตรกรดูแลเอาใจใส่ จากความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศเติบโตต่อเนื่อง และการขยายตัวของการค้าออนไลน์
“มาตรการ Zero Covid เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกผลไม้ไทยที่ประมาทไม่ได้ ซึ่งเวลานี้ทำให้เกิดปัญหาการส่งออกผลไม้ไปจีนทางบกติดขัดอย่างมากเกือบทุกด่านบริเวณพรมแดนจีน-ลาว และจีน-เวียดนาม เช่น ด่านโมฮ่าน ด่านเหอโขว่ ด่านตงชิง ด่านผิงเสียง และด่านโหยวอี้กวน ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนกลับมาไม่ทัน”
ทั้งนี้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด) ที่มี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้มีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่สำคัญได้แก่ การสร้างความร่วมมือและความเข้าใจกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน(GACC) กรณีการปิด-เปิดด่าน, มาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ, การเร่งเปิดบริการการขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน, การขยายตลาดทุเรียนไปยังตลาดรองอื่น ๆ, การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การจัดเก็บผลไม้ระบบสต๊อก และมีแผนพัฒนาห้องเย็นด้วยไนโตรเจนเหลวด้วยอุณหภูมิลบ 180-196 องศาเซลเซียสามารถเก็บได้นานกว่า 1 ปีและคงสภาพเดิมกว่า 90% เมื่อคืนรูป เป็นต้น
“จากความเสี่ยงสูงขึ้นจากการปิดด่านของจีน โดยเฉพาะการขนส่งด้วยรถบรรทุกผ่านด่านทางบกฟรุ้ทบอร์ดได้กำหนดเป้าหมายให้เพิ่มการขนส่งทางเรือเป็น 55% (ปี 2564 ขนส่งทางเรือ 51%) ทางบก 40% (เดิม 48%) ทางราง (รถไฟลาว-จีน) และทางอากาศรวมกัน 5% (เดิมทางอากาศ 0.54%) และเพิ่มการบริโภคภายในจาก 30% เป็น 40% ส่งออก 60%”
นายภาณุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า การป้องกันเชื้อโควิดปนเปื้อนเพื่อส่งทุเรียนและผลไม้ไทยไปจีน ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันตั้งแต่ระดับสวน ล้ง และในระหว่างการส่งออก ทั้ง GAP Plus และ GMP plus รวมถึงการฆ่าเชื้อก่อนปิดตู้โดยใช้น้ำยาที่ทางการจีนยอมรับ และไม่ให้มีซากของเชื้อเหลืออยู่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการถูกระงับนำเข้า ซึ่งหากด่านถูกปิดแค่เพียง 2 สัปดาห์ ก็จะเกิดปัญหากับทุเรียนไทยโดยเฉพาะทุเรียนภาคตะวันออก ที่จะออกสู่ตลาดพีคสุดในเดือน พ.ค.นี้ จะทำให้ล้นตลาดและราคาตกได้
“เวลานี้ราคาทุเรียนที่สวนที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยที่ 110-115 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเป็นเบอร์ A B ได้ 120-125 บาท ถ้าไปขายที่ล้งอาจได้ 130-135 บาท ขึ้นกับเกรดและคุณภาพ ถือว่าราคายังดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะเราคัดผลไม้คุณภาพดีส่งออกไป และคนจีนชอบ ราคาขายปลีกปลายทางถ้าเกรดดี ๆ ขายได้ 200 หรือ 200 กว่าบาทต่อกิโลฯ แต่ถ้าเกรดแบบธรรมดาทั่วไปเน้น Volume อาจอยู่ที่ 100 บาทปลาย ๆ ต่อกิโลฯ ยอมรับปีนี้เป็นที่ที่ยากกว่าปีที่แล้วในการส่งออกไปจีน เพราะเขาตรวจเข้มกว่า ปีนี้เราจะส่งออกทุเรียนไปจีนได้ถึง1 แสนล้านเช่นปีที่แล้วหรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้ แต่หากการขนส่งไม่มีปัญหาเราจะส่งออกได้มากกว่าปีที่แล้วแน่นอน”
ด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า มาตรการ Zero Covid ของจีนจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกทุเรียนของไทยในฤดูเก็บเกี่ยวที่จะมาถึง หากไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ราคาทุเรียนหมอนทองที่เคยซื้อขายที่สวน กก.ละ 130-150 บาท (ขึ้นกับคุณภาพ) ในปี 2564 จะถูกทอนลง ขึ้นกับว่ายังส่งออกได้บ้างหรือส่งออกไม่ได้เลย ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นราคาหน้าสวนบางสวนขายได้ที่ กก.ละ 100 บาท มาตรการโควิดนี้จะเป็นอุปสรรคและความท้าทายในการส่งออกทุเรียนของไทยไปจีนอย่างมาก เพราะจีนจะตรวจรถทุกคัน และทุเรียนทุกตู้ในการส่งผ่านด่านจีน โดยเจ้าหน้าที่จีนจะถูกลงโทษหากด่านไหนมีสินค้าที่ปนเปื้อนโควิดผ่านเข้าไป
อนึ่ง นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้าในคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เผย ( 29 เม.ย.) ว่า มีข่าวดีสำหรับชาวสวนทุเรียนและผลไม้ไทยโดยจีนเปิดด่านนำเข้าครบทุกด่านแล้ว ล่าสุดสำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายเกษตร กว่างโจวรายงานว่า จีนได้เปิดด่านนำเข้าทุเรียนและผลไม้ไทยในวันนี้อีกด่านหนึ่งคือด่านรถไฟผิงเสียงบริเวณพรมแดน “จีน-เวียดนาม”ซึ่งจะช่วยกระจายการส่งออกทุเรียนและผลไม้ไทยไปตลาดจีนได้มากขึ้น
ขณะที่เวลานี้จีนได้เปิดด่านทางบกที่เป็นด่านหลักครบทุกด่านสำหรับการนำเข้าทุเรียนและผลไม้ไทย ได้แก่ ด่านโหย่วอี้กวน ด่านตงซิง ด่านโม่ฮานและด่านรถไฟผิงเสียง นับเป็นข่าวดีสำหรับชาวสวนทุเรียนและผลไม้ของไทย อย่างไรก็ดีขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลอย่าให้มีการปนเปื้อนโควิดและทุเรียนอ่อนโดยเด็ดขาดเพราะจะส่งผลกระทบกับการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3779 วันที่ 1 – 4 พฤษภาคม 2565