นายเจริญเหล่า ธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวไทย ช่วง 3 เดือนแรกปี 2565(มกราคม-มีนาคม) ว่า จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีปริมาณเพิ่มขึ้น 48.5% โดยส่งออกได้ 1,743,280 ตัน คิดเป็น มูลค่า 29,468.2 ล้านบาท (903.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
โดยมูลค่าเพิ่มขึ้น 30.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 1,173,556 ตัน มูลค่า 22,529.1 ล้านบาท (757.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ทั้งนี้การส่งออกข้าว ในเดือนมีนาคม 2565 มีปริมาณ 647,608 ตัน มูลค่า 11,085 ล้านบาท โดยปริมาณ และมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น 1.8% และ 6.6% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่มีปริมาณ 635,919 ตัน มูลค่า 10,396 ล้านบาท
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชนิดข้าวที่ส่งออกส่วนใหญ่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากผู้นำเข้าต่างเร่งนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยสต๊อกข้าวในประเทศที่ลดลง ประกอบกับยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการค้าของโลกและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้การส่งออกข้าวในเดือนมีนาคม 2565 มีปริมาณ 647,608 ตัน มูลค่า 11,085 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น 1.8% และ 6.6% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่มีปริมาณ 635,919 ตัน มูลค่า 10,396 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชนิดข้าวที่ส่งออกส่วนใหญ่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากผู้นำเข้าต่างประเทศเร่งนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยสต๊อกข้าวในประเทศที่ลดลง ประกอบกับยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการค้าของโลก และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
โดยในเดือนมีนาคม 2565 มีการส่งออกข้าวขาวปริมาณรวม 307,530 ตัน ลดลง 13.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศอิรัก เยเมน โมซัมบิก จีน แองโกล่า ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่ข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 116,618 ตัน เพิ่มขึ้น 83.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เบนิน แอลจีเรีย โมร็อคโก เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 143,063 ตัน เพิ่มขึ้น 27.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสมาคมคาดว่าในเดือนเมษายน การส่งออกข้าว จะอยู่ที่ระดับประมาณ 700,000 ตัน เนื่องจากตลาดหลักที่สำคัญในแถบตะวันออกกลาง เช่น อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ตลาดแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ แองโกล่า โมซัมบิก รวมทั้งตลาดอเมริกา เช่น สหรัฐฯ แคนาดาจะยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีอุปทานเพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มฟื้นตัว ขณะที่หลายประเทศเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น ประกอบกับภาวะค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงส่งผลให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ดีขึ้น
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกข้าวไตรมาสแรกที่พุ่งสูงทั้งปริมาณและมูลค่าถือว่าเป็นการพุ่งสูงในนรอบ 5 ปี เพราะถ้าเทียบกับปีก่อนที่การส่งออกข้าว 2 เดือนแรก ค่อนข้างน้อย เนื่องจากราคาข้าวในประเทศสูง โดยปีก่อนราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ 16,000 บาทต่อตัน แต่ปัจจุบันราคาในประเทศอยู่ที่ 14,000 บาทต่อตัน ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเหลือ 34.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าเทียบกับปีก่อนที่ค่าบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งค่าบาทที่อ่อนตัวลงส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยดีขึ้นเพราะราคาเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามไม่ห่างกันมาก
ดังนั้นคาดว่าส่งออกข้าวในเดือนที่เหลือน่าจะเฉลี่ยที่ 7 แสนตัน และเป้าที่ตั้งไว้ทั้งปีที่ 7ล้านตันน่าจะได้ตามเป้าและสมาคมจะมีการปรับเป้าส่งออกข้าวอีกครั้งในช่วงกลางอาจจะ 7.5-8 ล้านตัน ก็จะส่งผลให้ไทยสามารถกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 2 ของโลกแทนเวียดนาม
สำหรับราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 27 เมษายน 2565 อยู่ที่ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 413-417ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน อินเดีย 343-347 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และปากีสถาน อยู่ที่ 343-347 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ด้านราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดีย อยู่ที่ 358-362 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่ราคา 386-390 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน