นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีการพิจารณาประกอบการทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราค่าแรงในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน กรณีที่เสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ เป็นการคิดแบบตรรกะที่ตนเองก็ไม่เข้าใจ
"อย่างถ้าเราเช่าบ้านอยู่ลำปาง 2,000 บาท ค่าเช่าที่ชลบุรี กรุงเทพฯ ก็อีกราคาหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกัน ฉะนั้นจะต้องเอาค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่มาคำนวณ ผมเคยเป็นลูกจ้างอยู่ในมาตรา 33 มาก่อนเข้าใจทุกอย่าง แต่ข้อเรียกร้องนั้นบางครั้งตนจะต้องสร้างสมดุลทั้งสองฝ่าย หยิน หยางต้องสมดุล"นายสุชาติกล่าว
การระบาดของโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถามว่า นายจ้างบาดเจ็บเท่าไร เจ็บจนไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาประคอง ถ้าจะขึ้นเงินเดือนจริงๆ 48% ไหวหรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องเอาค่าแรงขั้นต่ำ ค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อมาเป็นตัวพิจารณาประกอบกัน ซึ่งมาตรฐานทั่วโลกใช้สูตรนี้หมด
ทั้งนี้ เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ได้อธิบายตลอดอยู่แล้ว แต่ปรับเท่าไรให้นายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างพอไปได้ ซึ่งผมก็เคยถามคนที่มาเรียกร้องกับผมว่า เขาได้ค่าแรงเท่าไรก็ พบว่า ได้ค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำหลายเท่า จริงๆ เขาก็กลัวว่าการปรับฐานค่าจ้างแล้วจะกระทบไปหมดเป็นลูกโซ่
"วันนี้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือ ไม่มีใครไปทำงานกรรมกรก่อสร้างค่าแรงขั้นต่ำ วันนี้ต้องยอมรับว่าพี่น้องเราทำงานในออฟฟิศ”นายสุชาติกล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการปรับตามข้อเสนอของหลายๆ ท่าน เพราะมองว่ าค่าครองชีพ และภาวะเงินเฟ้อเพิ่มเข้ามาจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วย แต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
หลายคนกลัวว่า กระทรวงแรงงานจะเข้าข้างนายจ้าง ซึ่งไม่ใช่ เพราะถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ปิดกิจการไป จะเอาเงินจากตรงไหนไปจ่าย เงินกองทุนว่างงานของประกันสังคมเพียงพอหรือไม่ เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องไปให้ได้ถ้าทุกคนอยู่ได้ ขออย่าใช้อารมณ์ ให้ใช้หลักการความเป็นจริง