วันแรงงาน May Day และค่าแรงขั้นต่ำชาติสมาชิกอาเซียน

30 เม.ย. 2565 | 22:57 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2565 | 06:32 น.

1 พฤษภาคม ถือเป็นวันแรงงานแห่งชาติ หรือ Labour Day ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ตรงกับวันแรงงานสากล (International Workers' Day) ที่หลายคนเรียกว่าวันเมย์เดย์ (May Day) เนื่องจากตรงกับวันแรกของเดือนพฤษภาคม หรือเดือน May ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเรื่องนี้มีที่มา

ความเป็นมาของ วันแรงงาน ในสมัยก่อน ประเทศแถบยุโรปจะนับว่า วันเมย์เดย์ (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ในภาคเกษตรกรรม จึงได้จัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงเพื่อขอให้เทพเจ้าช่วยดลบันดาลให้การปลูกพืชเป็นไปด้วยดี อีกทั้งยังขอให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ มีความร่มเย็นเป็นสุข รวมถึงทางภาคเหนือของยุโรปก็ยังมีการจัดงานรอบกองไฟในวันเมย์เดย์นี้ด้วย ซึ่งประเพณีดังกล่าวก็ยังคงปฏิบัติกันสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันในประเทศอังกฤษ

 

ประวัติวันแรงงานสากล ทำไมต้องเมย์เดย์

แรก ๆ วันเมย์เดย์ถือเป็นเพียงแค่วันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมในหลายๆ แห่งได้ถือว่าวันนี้เป็นวันหยุดตามประเพณี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของ “ผู้ใช้แรงงาน” ที่ได้ทำประโยชน์ต่างๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ความหมายของวันเมย์เดย์จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จนเมื่อปีพ.ศ. 2433 (ค.ศ.1890) ได้มีการออกมาเรียกร้องในหลายประเทศโลกตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น “วันแรงงานสากล” ทำให้ในหลายประเทศได้เริ่มมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันแรงงานขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 และสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

กูเกิลดูเดิลร่วมฉลองวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคมในปีนี้

วันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม นั้น เกิดขึ้นจาก การระลึกถึงเหตุการณ์ระเบิดที่จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต (Haymarket) ในนครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ.1886 (พ.ศ.2429) ในขณะที่กลุ่มแรงงานกำลังเดินขบวนเพื่อเรียกร้องชั่วโมงการทำงานเพียง 8 ชม.ต่อวัน (ทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนั้นถูกเรียกว่า “การเคลื่อนไหวแปดชั่วโมงต่อวัน” หมายถึงสนับสนุนให้ใน 1 วัน แบ่งเป็นทำงาน 8 ชั่วโมง สันทนาการ 8 ชั่วโมง และพักผ่อน 8 ชั่วโมง)

 

การระเบิดดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และกลายเป็นข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลก นับจากนั้นในวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี จึงมีการเดินขบวนของแรงงานในประเทศต่างๆ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้

ในอดีต วันแรงงานสากลมักถูกนำไปผูกติดกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มซ้ายจัด

ต่อมาวันแรงงานสากลมักถูกนำไปผูกติดกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มซ้ายจัด จนถึงเมื่อคราวที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ต้องการให้มี "วันแรงงานสหรัฐ" จึงตัดสินใจเลือกวันอื่นแทนวัน May Day เพราะไม่ต้องการยึดโยงถึงการเมืองและเหตุการณ์ระเบิดที่ชิคาโกดังกล่าว รัฐสภาสหรัฐจึงรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1894 (พ.ศ.2437) ให้วันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงานทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นวันหยุด ถือเป็นวันหยุดสุดท้ายในช่วงฤดูร้อนก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง วันแรงงานแห่งชาติของสหรัฐจึงไม่ได้ตรงกับวันแรงงานสากล ด้วยประการฉะนี้ 

วันแรงงานในประเทศไทย

อุตสาหกรรมไทยในสมัยก่อนได้เริ่มขยายตัวมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานต่างก็มีปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปัญหาแรงงานก็ยังมีความซับซ้อนยากที่จะแก้ไขได้โดยงาน ทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงาน โดยเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน ตลอดจนคุ้มครองและดูแลสภาพการทำงานของแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ดีขึ้น ซึ่งในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงานได้จัดประชุมขึ้น โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ให้เป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม ทำให้นับแต่นั้นมา วันที่ 1 พฤษภาคม จึงกลายเป็น “วันกรรมกรแห่งชาติ” จนต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ

 

ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ที่ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติได้ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีอายุได้เพียง 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน อีกทั้งยังกำหนดให้วันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมีความไม่แน่นอน จึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปีเพื่อเป็นการเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยในบางปีก็ได้มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

 

จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. 2517 ได้เปิดโอกาสให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร โดยได้มอบหมายให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี ภายในงานได้มีการจัดให้ทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแแสดงความรู้ ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

 

สำหรับ วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดทางราชการ ฉะนั้น หน่วยงานราชการก็ยังคงเปิดทำงานและให้บริการตามปกติในวันแรงงานแห่งชาติ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้น

หนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญที่มักจะมีการพูดถึงในวันแรงงาน คือ การขอขยับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศอาเซียน

หนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญที่มักจะมีการพูดถึงในวันแรงงานแห่งชาติคือ การขอขยับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ขยับสูงขึ้น เช่นเดียวกับในปีนี้ ที่มีการเรียกร้องปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากจะย้อนความเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐ ได้แถลงนโยบายต่อสาธารณะว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อยวันละ 425 บาท แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้ (อ่านเพิ่มเติม: สรุปข้อเรียกร้องลูกจ้าง "วันแรงงานแห่งชาติ 2565" ถึงนายกฯ)

 

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ออกมาระบุว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อยู่ระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร พิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ 2565 จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างฯ จะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2565

 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังระบุว่า ปัจจุบันอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ใน “ระดับต้น ๆ” ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ สูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา  “ฐานเศรษฐกิจ” จึงไปรวบรวมอัตราค่าแรงขั้นต่ำของ 10 ชาติอาเซียนล่าสุดมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้

 

ค่าแรงขั้นต่ำของ 10 ชาติอาเซียน

(เรียงลำดับจากมากไปน้อย มีการแปลงเงินท้องถิ่นเป็นเงินบาท อาจมีความคลาดเคลื่อนได้)

  1. สิงคโปร์ 1,423 บาท/วัน
    ( 1 ก.ค.65 จะเพิ่มจาก 1,274 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน เป็น 1,312 ดอลลาร์ฯ)
  2. บรูไน 664 บาท/วัน (810 ดอลลาร์บรูไน/เดือน)
  3. ฟิลิปปินส์ 202-345 บาท/วัน (ปี 64 อัตราอยู่ที่ระหว่าง 316-537 เปโซ/เดือน)
  4. อินโดนีเซีย 138-444 บาท/วัน (1,765-4,416 ล้านรูเปียห์/เดือน)
  5. ไทย 313-336 บาท/วัน (ปรับค่าแรงครั้งล่าสุดปี 2563)
  6. มาเลเซีย 291-318 บาท/วัน (1,100-1,200 ริงกิต/เดือน)
  7. กัมพูชา 217 บาท/วัน (194 ดอลลาร์/เดือน)
  8. เวียดนาม 150-205 บาท/วัน (3.07 ล้าน-4.2 ล้านด่อง)
  9. ลาว 144 บาท/วัน (มี.ค.65 เพิ่งปรับจาก 1.1 ล้านกีบ เป็น 1.5 ล้านกีบ/วัน)
  10. เมียนมา 90 บาท/วัน (ค่าแรง 8 ชม. อยู่ที่ 4,800 จ๊าต/วัน)

 

ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี / วีโอเอ/ Asean Briefing / SingaporeLegalAdvice.com