เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือข้อราชการเต็มคณะ กับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม EV บนพื้นที่ EEC ของไทย
สาระสำคัญของการหารือครั้งนี้ มีดังนี้
ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ทั้งสองฝ่ายพร้อมหาข้อสรุปเพื่อจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี อย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน
นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนข้อริเริ่ม Asia-Japan Investing for the Future (AJIF) ของญี่ปุ่น โดยนักลงทุนญี่ปุ่นสามารถใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งรัฐบาลไทยเพิ่งประกาศมาตรการส่งเสริม
ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุน โดยเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ รองรับการลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ถือเป็นฐานที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยืนยันว่าญี่ปุ่นจะยังคงการผลิตยานยนต์ในไทยต่อไป รวมถึงการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ด้วย
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทักษะชั้นสูง โดยญี่ปุ่นพร้อมพิจารณาจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยเพิ่มเติม ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาดเพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยผลักดันและจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยต่อไปด้วย
ทั้งนี้ นายเพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ ระบุว่า เป้าหมายการลงทุนของญี่ปุ่นในพื้นที่ EEC ในปี 2565 อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ยอดลงทุนอยู่ที่ 1.98 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตามเพื่อสานต่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศยังได้มีการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย
ด้านความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-19
นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนไทยในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งรวมถึงการส่งมอบวัคซีน เครื่องผลิตออกซิเจนและอุปกรณ์สำหรับการจัดเก็บวัคซีนฯ รวมทั้งความช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
โดยในระยะต่อไป นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรส่งเสริมความร่วมมือในด้านสาธารณสุขระหว่างกันมากขึ้น เพื่อรับมือกับโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายยังได้มีการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากขึ้น ผ่านการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยชาวไทยพร้อมให้การต้อนรับชาวญี่ปุ่นกลับมาท่องเที่ยวในไทย
ด้านความร่วมมือด้านกลาโหม ความมั่นคง และการยุติธรรม
ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหารกันอย่างใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายพร้อมให้มีการเจรจาสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันในทันทีเพื่อผลักดันในเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันต่อไปภายใต้กลไกความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค
ทั้งนี้ภายหลังการหารือ ทั้งสองประเทศได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย
ด้านภูมิภาคและระหว่างประเทศ
ญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดในการมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน – ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือกับไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – ญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด
รวมทั้งพร้อมหารือร่วมกันในการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษที่ญี่ปุ่นในปีหน้า นอกจากนี้ ทั้งสองเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือกันอย่างแข็งขันมากยิ่งขึ้นในกรอบต่าง ๆ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันในการเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและโลก
ส่วนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคของไทยในปีนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือและให้การสนับสนุนบทบาทที่แข็งขันของไทย พร้อมสนับสนุนวาระการเป็นเจ้าภาพที่ไทยผลักดัน ภายใต้หัวข้อ Open. Connect. Balance. โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้านนายกรัฐมนตรีพร้อมให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทยอีกครั้ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายนนี้
ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีของไทย เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรพิจารณายกระดับสถานะความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน เพื่อสะท้อนความแน่นแฟ้นและพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยืนยันพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการส่งเสริมสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และเห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรีในการยกระดับสถานะความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” โดยทางญี่ปุ่นจะพิจารณาอย่างจริงจังต่อไป