นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศญี่ปุ่น เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 1-2 พ.ค.นี้ นับเป็น การเยือนไทย ครั้งแรกในรอบ 9 ปีของบุคคลระดับผู้นำรัฐบาลของ ญี่ปุ่น ซึ่งในการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ นายคิชิดะได้มีถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการเผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น มีเนื้อหาว่า
สารจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเยือนประเทศไทย
2 พฤษภาคม 2565
ในวันนี้ ข้าพเจ้าจะเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และตั้งตารอที่จะได้เห็นพัฒนาการอันยอดเยี่ยมของประเทศไทยด้วยตาตนเอง
ประเทศไทยมีชาวญี่ปุ่นพำนักอาศัยอยู่มากกว่า 8 หมื่นคน และมีบริษัทญี่ปุ่นอยู่ราว 6,000 บริษัท สำหรับญี่ปุ่นแล้ว ไทยถือเป็นฐานที่มั่นที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสองประเทศมีประวัติศาสตร์แลกเปลี่ยนความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานกว่า 600 ปี โดยมีพระราชไมตรีระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่นเป็นรากฐาน ในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 นั้นถือเป็นช่วงที่ทั้งสองประเทศมีการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และยังคงมีการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องตลอดมา
ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ได้หยั่งรากลึกลงในหลายแขนงด้วยกัน ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ระหว่างประเทศซึ่งเกี่ยวโยงทั้งสองประเทศไว้ด้วยกันก็ทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และเพื่อให้ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยสามารถเดินหน้าไปพร้อมกันได้ในโลกที่มีเสถียรภาพ ข้าพเจ้าได้ตั้งเป้าหมายในการเดินทางมาเยือนครั้งนี้ไว้ 2 ประการ ดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 คือการเสริมความเข้มแข็งในการประสานงานระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยซึ่งเป็นหุ้นส่วนสำคัญ ในด้านสถานการณ์ทางภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น ประเทศยูเครน และ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในปัจจุบัน ประชาคมโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่สั่นคลอนรากฐานความเป็นระเบียบในสังคมโลก การบุกโจมตีประเทศยูเครนของประเทศรัสเซียเป็นการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจนและยอมรับไม่ได้โดยเด็ดขาด
การเข้ารุกรานอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนด้วยการใช้กำลังทหารหรือข่มขู่ รวมถึงการใช้กำลังแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้นไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคใดก็ตาม และจำเป็นต้องเรียกร้องให้หาทางหยุดสงครามด้วยวิธีการสันติโดยตั้งอยู่บนหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ
ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าจะสามารถแบ่งปันแนวคิดนี้ร่วมกันกับประเทศไทยที่รักษาเอกราชมาได้อย่างยาวนานจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นประเทศที่รักในสันติภาพเหมือนกัน ข้าพเจ้าจะร่วมมือกับประเทศไทยในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศยูเครน และในด้านของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา บทบาทของประเทศไทยก็ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีชายแดนยาวติดต่อกัน รวมถึงมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกันเป็นพิเศษ ข้าพเจ้ามุ่งหวังที่จะร่วมมือกับประเทศไทย เพื่อความมั่นคงและสันติภาพของภูมิภาคและโลกใบนี้
ประการที่ 2 คือการยกระดับความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยอย่างก้าวกระโดด ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างญี่ปุ่น-ไทย ข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสนี้พัฒนาความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น
ประเทศไทยในปัจจุบันมีทั้งถนนและเส้นทางรถไฟฟ้ารวมถึงรถไฟใต้ดินที่ใช้กันอย่างแพร่หลายซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยประเทศญี่ปุ่น รวมถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นและอาหารญี่ปุ่นเองก็แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำของทุกท่าน นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นยังได้จัดตั้งสถาบันโคเซ็นเพื่อฝึกอบรมเยาวชนช่างเทคนิคชาวไทย และให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยส่งมอบวิทยาการความรู้เฉพาะทางของสถาบันโคเซ็นจากประเทศญี่ปุ่น
ในด้านมาตรการการรับมือโรคโควิด-19 ญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการบริจาควัคซีนและจัดเตรียมอุปกรณ์ในระบบลูกโซ่ความเย็นที่มีความจำเป็นต่อการจัดเก็บและการขนส่งวัคซีน ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าขอขอบคุณประเทศไทยจากใจจริง ที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในไทย เช่น การจัดโปรแกรมการฉีดวัคซีนสำหรับชาวญี่ปุ่น เป็นต้น
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ และประเทศญี่ปุ่นจะยังคงให้การสนับสนุนแก่ประเทศไทยต่อไปในฐานะมิตรสหายใกล้ชิด
การประชุมหารือกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย จะเป็นการหารือกันอย่างเป็นรูปธรรมในหลายหัวข้อ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้ก้าวไกลยิ่งขึ้นโดยตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อใจที่มีมาอย่างยาวนาน เริ่มจากขยายขอบเขตการให้การสนับสนุนในการรับมือโรคโควิด-19 ซึ่งครอบคลุมไปไกลถึงยุคหลังโควิค-19 ด้วย รวมถึงเสริมความแข็งแกร่งในการให้ความคุ้มครองประเทศภาคี และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมพลังงาน การลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ และการให้ความร่วมมือรูปแบบใหม่อย่างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และการคุ้มครองความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านของความช่วยเหลือเหล่านี้ และเป็นหุ้นส่วนที่ดีที่สุดในการสานต่อแนวคิด “ทุนนิยมใหม่” ที่ข้าพเจ้าดำเนินการอยู่ให้เป็นจริง
สุดท้ายนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC ในปีนี้และในปีหน้าจะเป็นปีเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น การให้ความร่วมมือกับไทยซึ่งเป็นประเทศที่เชื่อมโยง ASEAN เข้ากับประเทศญี่ปุ่นจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าหวังว่าประชาชนชาวไทยทุกท่านจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความร่วมมือญี่ปุ่น-ไทยด้วยกันกับพวกเรา