หลักเศรษฐกิจ BCG Model เป็นนโยบายที่ภาครัฐผลักดันการพัฒนาประเทศโดยถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีการจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ดังนั้นทางกรมปศุสัตว์ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของโมเดลดังกล่าวจึงได้ดำเนินโครงการประกวดฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODELประจำปี พ.ศ. 2565 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเชิดชูและสร้างต้นแบบฟาร์มปศุสัตว์อินทรีย์ที่สามารถประยุกต์หลัก BCG model มาใช้จริงให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีมอบโล่รางวัลโครงการประกวดฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL ประจำปี พ.ศ. 2565 ในโอกาสวันสถาปนากรมปศุสัตว์ครบรอย 80 ปี วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ณ กรมปศุสัตว์ โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้เปิดเผยว่า “โครงการประกวดฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL ประจำปี พ.ศ. 2565
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL ซึ่งเป็นฟาร์มอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์จากกรมปศุสัตว์ และเป็นการเชิดชูฟาร์มที่ได้นำหลักการ BCG model มาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ กล่าวคือ
1.หลักเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy:B) ฟาร์มมีการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มายกระดับฟาร์มให้ได้มาตรฐานสอดคล้องตามหลักการปศุสัตว์อินทรีย์ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร
2.หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular-Economy;C) มีการนำทรัพยากรและวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์สูงสุด มีความยั่งยืน พึ่งตนเองได้มาก หมุนเวียนปัจจัยการผลิตได้ดี และใช้หลัก zero-waste ในฟาร์ม
3.หลักเศรษฐกิจสีเขียว (Green-Economy;G) เน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว การประหยัดพลังงาน ลดการปลดปล่อยของเสียจากฟาร์ม รวมทั้งเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2565 มีฟาร์มปศุสัตว์แอินทรีย์ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นฟาร์มต้นแบบจากกรมปศุสัตว์จำนวน 13 ฟาร์ม โดยในจำนวนนี้ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นระดับยอดเยี่ยม 3 ฟาร์ม ได้แก่
1.ไร่ผึ้งฝนฟาร์ม ระดับยอดเยี่ยม ประเภทฟาร์มโคนมอินทรีย์
2.บริษัท ฮิลไทรบ์ ออร์แกนนิคส์ จำกัด ระดับยอดเยี่ยม ประเภทฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์
3.ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์มหาสารคาม ระดับยอดเยี่ยม ประเภทแปลงพืชอาหารสัตว์อินทรีย์
นอกจากนี้ ยังมีฟาร์มต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือกอีก 10 ราย ได้แก่ฟาร์มโคนมอินทรีย์ต้นแบบ 1) โคบาลฟาร์ม 2) ฟาร์มสาธิตแดรี่โฮม 3) อรพรรณฟาร์ม ฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์ต้นแบบ 1) สถานีเกษตรหลวงปางดะ 2) ฟาร์มวังไทร 3) ภูเชียงทา ออร์แกนิค ฟาร์ม แปลงพืชอาหารสัตว์อินทรีย์ต้นแบบ 1) ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สกลนคร 2) ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว 3) ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ 4) ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์กาญจนบุรี
ฟาร์มเหล่านี้เป็นต้นแบบที่เด่นชัดในการนำหลัก BCG model มาใช้ปฏิบัติจริงในฟาร์มให้เกิดเป็นรูปธรรมจนเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยการทำปศุสัตว์อินทรีย์นั้น มุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้สารจากธรรมชาติ เช่น สมุนไพรไทย เพื่อลดการนำเข้าปัจจัยการผลิตสารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมีและยาสัตว์ เลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ
นอกจากนี้ผู้บริโภคยังได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ปราศจากสารพิษตกค้าง อีกทั้งยังสอดรับตาม BCG model ได้อย่างลงตัว ทั้งนี้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่สนใจศึกษางานในฟาร์มต้นแบบที่ได้รับรางวัลหรือต้องการรับทราบข้อมูลการรับรองปศุสัตว์อินทรีย์ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดท้องที่ ได้ทุกแห่ง”