นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. มีเป้าหมายหลักในการเป็นผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรระดับภูมิภาคด้วยนวัตกรรม มุ่งเน้นพัฒนาและให้บริการสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบวงจรตามความจำเป็น และความต้องการของผู้ประกอบการภายในนิคมฯ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กนอ.มุ่งยกระดับนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กำกับดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรมให้อยู่ในมาตรฐานที่ไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยร้ายแรงส่งผลกระทบต่อสังคมชุมชน
ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกำกับ ควบคุม ดูแล คุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย
รวมถึงการตอบโต้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตามแนวเส้นทางสัญจรของเรือสินค้า เรือทั่วไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ประกอบการ ในการใช้บริการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์และรักษาสภาพแวดล้อมภายในบริเวณเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ให้สอดคล้องกับประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 134/2564 เรื่อง มาตรการความปลอดภัย การป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมัน เคมีภัณฑ์ และสารที่เป็นอันตรายประจำท่าเรือ
กนอ. โดยสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) จึงจัดหาผู้มีประสบการณ์และความชำนาญ รวมถึงมีความพร้อมด้านอุปกรณ์และบุคลากร เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเก็บขยะ คราบน้ำมัน
และดับเพลิงในเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งได้ว่าจ้าง บริษัท เอ. แอนด์ มารีน (ไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2569
โดยจะเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งบริษัทฯ ใช้เรือเก็บขยะ ขจัดคราบน้ำมัน และดับเพลิง จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือรักษ์นที 01 และ เรือรักษ์นที 02 พร้อมอุปกรณ์สำหรับดำเนินโครงการ
"การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรระดับภูมิภาค ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน"
นายวีริศ กล่าวอีกว่า ปฏิบัติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างความปลอดภัยทางทะเล เขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วน ในการเข้าใช้บริการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงเพิ่มศักยภาพการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและความพร้อมตอบโต้กรณีเกิดภาวะฉุกเฉินในเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และชุมชนใกล้เคียงได้
ซึ่งเรือทั้ง2ลำจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินภารกิจให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองด้วยว่า จะใช้เรือทั้ง 2 ลำช่วยชุมชนในการเก็บขยะในทะเล การขจัดคราบต่างๆ รวมถึงการดับเพลิง เมื่อได้รับการร้องขอด้วย เพราะการสนับสนุนชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ กนอ.
นายพรเทพ ภูริพัฒน์ รองผู้ว่าการฯ ปฏิบัติการ 3 กนอ. ในฐานะผู้กำกับดูแล สทร. กล่าวว่า ปัจจุบัน สทร. มีจำนวนผู้ประกอบการท่าเรือ 12 ราย มีจำนวนท่าเทียบเรือ 33 ท่า โดยมีท่าเทียบเรือที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ สทร. 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (Maptaphut Industrial Terminal : MIT 1-4)
โดยลักษณะทางกายภาพของท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นอ่าวเปิด มีช่องทางเข้า-ออก ประกอบกับที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่รับกับแนวลมมรสุมของประเทศ กระแสน้ำในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงเกิดการพัดพาขยะจากนอกพื้นที่ทั้งขยะมูลฝอย ขยะพลาสติก เข้ามาสะสมอยู่บริเวณตอนในพื้นที่รับผิดชอบของ สทร. มากกว่า 600 กิโลกรัมต่อเดือน และมีคราบน้ำมันที่ไม่ทราบจากแหล่งที่มาในบางครั้ง
รวมถึงเศษเชือก เศษไม้ ถูกพัดพาเข้ามาในพื้นที่ของท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านคุณภาพน้ำทะเล อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินเรือได้ ดังนั้น การจัดหาผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์และความพร้อมเข้ามาดำเนินการจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับเรือเก็บขยะ ขจัดคราบน้ำมัน และดับเพลิง จำนวน 2 ลำ ภายใต้ปฏิบัติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างความปลอดภัยทางทะเล เขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้แก่ เรือรักษ์นที 01 และ เรือรักษ์นที 02 มีคุณลักษณะที่สำคัญประกอบด้วย