พ.ค.นี้ ลุ้นเกณฑ์ TOR รฟม.เล็งเปิดประมูลสายสีส้ม รอบ2

11 พ.ค. 2565 | 07:32 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2565 | 14:36 น.

รฟม.กางแผนเปิดประมูลสายสีส้มรอบ 2 วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ภายในพ.ค.นี้ เตรียมประเมินข้อเสนอเอกชน ส.ค.65เร่งตอกเสาเข็ม ก.ย. 65 ฟากบีทีเอสยันเข้าร่วมประมูล รอลุ้นหลักเกณฑ์ประมูลโปร่งใส-ยุติธรรม

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง อีก 3.2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้รฟม.อยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) คาดว่าจะสามารถประกาศรายละเอียด และเริ่มขั้นตอนจัดหาเอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจาก รฟม.ได้ออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อนำมาใช้ประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาฯ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาข้อเสนอของเอกชน คาดว่าแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ก่อนจะเร่งรัดให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการทันทีในเดือนกันยายน 2565 เพื่อเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ในเดือนสิงหาคม 2568 เนื่องจากปัจจุบันช่วงดังกล่าวอยู่ระหว่างก่อสร้าง และเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – บางขุนนนท์ ภายในเดือนธันวาคม 2570

 

 

 “ปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 อยู่ระหว่างร่างเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ และสามารถประกาศ RFP ได้ ซึ่งการดำเนินงานของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เป็นไปด้วยความโปร่งใส เพราะโครงการนี้มีคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย”

 

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า การคัดเลือกเอกชนในครั้งนี้ รฟม.ยืนยันว่าต้องดำเนินการคัดเลือกอย่างรอบคอบ เพราะงานก่อสร้างสายสีส้มส่วนตะวันตก ต้องก่อสร้างลอดผ่านย่านชุมชนหนาแน่น (ห้วยขวางประชาสงเคราะห์) ย่านเศรษฐกิจการค้าสำคัญ (ประตูน้ำ เพชรบุรีตัดใหม่) ย่านเมืองเก่า (ถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามหลวง โรงละครแห่งชาติ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา รพ.ศิริราช สถานีรถไฟธนบุรี) นอกจากนี้ยังผ่านพื้นที่ซึ่งมีโบราณสถานและอาคารอนุรักษ์จำนวนมาก ซึ่งหากประสบปัญหาจากเทคนิคก่อสร้างที่ไม่ดีพอจะทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้

 

 

 

 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า กรณีที่รฟม.มีแผนที่จะประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนเพื่อประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นั้น เบื้องต้นทางบริษัทต้องดูร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) ราคาก่อนว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากการทำประชาพิจารณ์ของรฟม.ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การประมูลในครั้งนี้

“ส่วนจะเข้าร่วมการประมูลโครงการฯหรือไม่นั้น ทางบริษัทตั้งใจจะเข้าร่วมการประมูลอยู่แล้ว แต่คงต้องดูร่าง RFP ที่ออกมาด้วย หากรฟม.ยังยืนยันใช้เกณฑ์ด้านราคาควบคู่เกณฑ์ด้านเทคนิค ทางบริษัทคงต้องพิจารณาดูรายละเอียดและองค์ประกอบของเอกสารการประมูลว่ามีความโปร่งใส ยุติธรรมในการประมูลหรือไม่”

 

 

นายสุรพงษ์  กล่าวต่อว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่จะกระทบต่อคดีที่อยู่ในศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตหรือไม่นั้น ทางบริษัทคงต้องดูหลักเกณฑ์การประมูลที่ประกาศออกมาก่อน เพราะมันเป็นเรื่องข้อกฎหมาย ปัจจุบันคืบหน้าคดีการแก้ไขหลักเกณฑ์และยกเลิกการประมูลของรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้น ขณะนี้ศาลฯอยู่ระหว่างการสืบพยานทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อประกอบข้อเท็จจริง

 

 

 

ส่วนความคืบหน้าคดีที่ศาลปกครองยังอยู่ทั้งหมด 2 คดี ประกอบด้วย 1.คดีละเมิดการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลได้ตัดสินแล้วว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมายและยกฟ้องค่าเสียหาย 500,000 บาท เนื่องจากบริษัทต้องจัดทำเอกสารข้อเสนอในการประมูลอยู่แล้ว โดยศาลพิจารณาให้จำหน่ายคดีบางส่วน 2.คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และรฟม.ยกเลิกประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลปกครองกลางพิจารณา

ด้านแผนดำเนินการก่อสร้างช่วงตะวันออกศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กม. ได้ผลงานรวม 93.55%  ดังนี้ สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-รามคำแหง 12 กลุ่มกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที (บมจ.ซิโน-ไทยฯ – บมจ.ช.การช่าง) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 97.27% สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12-หัวหมาก กลุ่มกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 96.61% สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 94.79%, 

พ.ค.นี้ ลุ้นเกณฑ์ TOR รฟม.เล็งเปิดประมูลสายสีส้ม รอบ2

 

สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า-สุวินทวงศ์ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 83.37%  สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร กลุ่มกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 89. 72% สัญญาที่ 6 งานก่อสร้างระบบราง บมจ.ยูนิค ฯ เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 81.30%

 

 

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี เป็นสถานีใต้ดินตลอดสายทาง