นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในงานปาฐกถา "ภาวะโลกร้อน" วาระเร่งด่วนของโลกที่การค้ายุคใหม่ต้องให้ความสำคัญ งานสัมมนา “ZERO CARBON” การค้าสู่ความยั่งยืนในเวทีโลก จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่าขณะนี้ ประเทศไทยและหลายประเทศทั้วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่งทั้งโควิด เศรษฐกิจ สงครามการค้าและมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นวิอกฤตซ้ำซ้อนไปทั่วโลก
ทำให้การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย IMF ที่คาดการณ์ว่าในปี2565 ที่จะขยายตัวจาก +4.4% มีการประเมินใหม่เหลือ +3.6% การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรืออังค์ถัด ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกเหลือ +2.6% สาเหตุหลักๆมาจาก
“สำหรับประเทศไทย IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเป็นบวก 3.3% ส่วนกระทรวงการคลังมองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตที่ 3.5% โดยพระเอกของการขับเคลื่อนยังคงเป็นภาคการส่งออก ซึ่งในปี 64 แม้ว่าไทยจะเผชิญกับวิกฤตต่างๆ ทั้งปีไทยส่งออกเป็นนบวกถึง 17.1% ซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้ที่ 4% สูงที่สุดในรอบ 11 ปี ทำเงินเข้าประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าบวก 4% ซึ่ง 3 เดือนแรกปี 65 เกินเป้าแล้วบวก 15% นำเงินเข้าประเทศ 2.4 ล้านล้านบาท ตั้งเป้าที่ 9 ล้านล้านบาท มีนาคม 65 +20% เงินเข้าประเทศเดือนเดียว 9.2 แสนล้านบาทสูงที่สุดในรอบ 30 ปีและเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเข้ามาหลังจากที่รัฐบาลเปิดประเทศ ซึ่งก็หวังว่าจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนจีดีพีประเทศได้ รวมถึงการขับเคลื่อนภาครัฐในส่วนของงบประมาณแผ่นดินซึ่งจะมีเม็ดเงินอีกก้อนมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ภาคส่งออกยังเป็นพระเอกและเป็นความหวังในการนำประเทศไปข้างหน้าแม้ว่าจะยากขึ้นทุกวัน เพราะมีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นแต่ในวิกฤติยังมีโอกาสที่พลิกกลับมาช่วยให้การค้าโลกการค้าของไทยเดินหน้าอย่างน้อย 2 เรื่อง คือการแบ่งขั้วทางการเมืองและการค้าที่เคยแยกจากกันจากนี้จะถูกมัดรวมกัน
และโลกจะถูกบังคับแบ่งขั้วเลือกข้างมากขึ้น ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นความยากในการทำการค้า ซึ่งจะมีหลายประเทศมีบทบาทมากขึ้น เช่น “ชินเดีย” คือ จีนและอินเดียรวมกันโดยที่2มหาอำนาจใหญ่ที่มีประชากรและจีดีพีรวมกัน 1 ใน 3 ของโลกจะเป็นประเด็นใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่นักธุรกิจและภาครัฐจะมองข้ามไม่ได้
ประเทศไทยต้องฝ่าวิกฤติการแบ่งขั้วแบ่งค่ายทางการเมืองให้ได้ อย่างน้อยไทยต้องจับมือกับอาเซียนผนึกกำลังกันให้ชัด ให้มีอำนาจต่อรองเข้มแข็งขึ้นในเวทีการค้าโลก
2.เงื่อนไขกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ภาษีจะเกิดมากขึ้น สัญญาณเตือนคือคำประกาศของสหภาพยุโรปที่เรียก European Green DEAL ประกาศในปี 2020 ทำเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปให้มีความยั่งยืนด้วย green economy ซึ่งมีมาตรการ CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป
ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่สำหรับโลกและประเทศที่อาศัยตลาดสหภาพยุโรปต้องตระหนักและเร่งปรับตัวให้ไปขายในสหภาพยุโรปได้และปี 2026 สหภาพยุโรปจะเก็บภาษีคาร์บอนที่ข้ามพรมแดน เบื้องต้น 5 รายการ
และอนาคตจะเพิ่มอีกคือ1)พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก 2)ไฮโดรเจนซึ่งใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า
3. ออร์แกนิค เคมีคอล ที่ผสมอยู่ในปุ๋ย
นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของเกือบทุกประเทศในโลก อาจเก็บ Carbon TAX สำหรับสินค้าที่เข้าประเทศในอนาคต ประเมินว่าอาจมีเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียม เป็นต้น
“มาตรการเหล่านี้จะกระทบทั้งการผลิตและการตลาด โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ต้องปลอดคาร์บอนให้มากที่สุด ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงภาคบริการด้วย ทางออก คือ ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือ ต้องเดินสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องทำและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและประเทศไทยมีการสนองตอบต่อการพลิกวิกฤตินี้เป็นโอกาส เช่น ประกาศเป้าหมายสู่การเป็นซีโร่คาร์บอนในปี 2065 และได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก”
ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งสัญญาณเตือนว่า อียูจะเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์มีนโยบาย “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด”ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต”จับมือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ เอาภาคการผลิตกับภาคการตลาดอยู่ด้วยกัน สนองความต้องการทางการตลาดและเงื่อนไขทางการตลาดของโลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รวมถึงมีการแยกหมวดเฉพาะ คือ BCG ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเดือนตุลาคม 64 ถึงไตรมาสแรก ปี 65 ทำตัวเลขส่งเสริมสินค้า BCG ได้ถึง 3,800 ล้านบาท เกินเป้า 7 เท่า มีผู้ประกอบการ 1,351 ราย
โดยเฉพาะอาหารแห่งอนาคต อาหารของคนรุ่นใหม่ อาหารเฉพาะ อาหารทางการแพทย์ เป็นต้น และภาคการผลิตต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชน รัฐหนุนเอกชนนำและที่สำคัญ ต่อไปนี้ต้องเน้นมาตรการเชิงรุกและเชิงลึก สอดคล้องกับมาตรการทางคาร์บอน กลไกเศรษฐกิจทันสมัยต้องเอามาใช้มากขึ้น ทั้งเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม อีคอมเมิร์ซ จับคู่เจรจาการค้า Blockchain cryptocurrency Metaverse และ Soft Power ต้องเอามาขายคู่กับ Green Economy
ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพด้าน Soft Power มาก มีการจัดอันดับโลกและเอเชียทางวัฒนธรรมประเทศไทยอยู่ลำดับ 5 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย เราจะต้องขายคู่กับ Zero Carbon
“ถ้าเราสามารถจับมือไปด้วยกันในทิศทางที่ถูกต้อง ตนเชื่อว่าจะสามารถปรับวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสได้ให้เป็นทางรอดทางการค้านำเงินมหาศาลเข้าประเทศได้และยังทำให้ประเทศไทยสังคมไทยกลายเป็นประเทศที่น่าอยู่ ทำให้คนไทยทั้งประเทศ ชาวกรุงเทพมหานครมีความสุขต่อไปในอนาคตได้ คุณภาพชีวิตทุกคนก็จะดีขึ้น”