นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาบหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาดครั้งที่ 1/ 2565 (ครั้งที่ 30)ว่าเพื่อให้การบริหารจัดการผลปาล์มดิบของเกษตรกร การผลิตน้ำมันปาล์มดิบของโรงสกัด และโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มรีไฟน์เข้าสู่ภาวะสมดุล ไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนสำหรับบริโภค และมีเสถียรภาพด้านราคาเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงสกัด
ที่ประชุม จึงได้มีการตั้งอนุกรรมการ ประกอบด้วย 3 ฝ่าย 1.หน่วยงานภาครัฐ 2.ตัวแทนเกษตรกรและ3.ตัวแทนผู้ประกอบการ โดนตัวแทนภาครัฐมี 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมการค้าภายใน 2.กรมการค้าต่างประเทศ 3.กรมศุลกากร 4.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 5.กรมพัฒนาพลังงานและอนุรักษ์พลังงานผู้แทนเกษตรกร 2 องค์กรสำคัญที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ 1.สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 2.สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม3.สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และ4.ผู้แทนคลังรับฝากน้ำมันปาล์ม เป็นอนุกรรมการ
โดยมีหน้าที่สำคัญดังนี้ 1.วิเคราะห์สถานการณ์การผลิต การตลาด ราคาและปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์ม 2.ให้กำหนดปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่เหมาะสมกับสถานการณ์และให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ เพื่อป้องกันน้ำมันปาล์มขาดแคลน 3.ให้มีหน้าที่กำหนดมาตรการแนวทางเงื่อนไขหลักเกณฑ์วิธีการและอื่นๆที่เกี่ยวกับการให้เกิดความสมดุลของน้ำมันปาล์มให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติ และภารกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
“ที่ประชุมวันนี้ยังได้มีมติให้รับทราบข้อสั่งการของกรมการค้าภายในที่อธิบดีได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสต๊อกและรายงานสต๊อกให้อนุกรรมการชุดนี้รับทราบทุก 7 วัน นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เพื่อติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด ให้มีน้ำมันปาล์มบริโภคเพียงพอและดูแลราคาให้มีเสถียรภาพเหมาะสมต่อไป เพื่อเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งเกษตรกร โรงสกัด ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทั้งนี้จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติหรือ กนป.”
สำหรับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบปัจจุบันอยู่ประมาณ 180,000 ตัน ถึง 200,000 ตัน ต้องยอมรับว่าราคาผลปาล์มสูงขึ้นมากซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯและรัฐบาล ทำให้ผลปาล์มมีราคาสูงเพื่อประโยชน์กับเกษตรกร ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผลปาล์มตกกิโลกรัมละ 2 บาทกว่าปัจจุบันราคาปาล์มสูงขึ้นเป็น 8-12 บาท/กก.
แต่อาจจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มบริโภคจึงต้องมีคณะอนุกรรมการชุดนี้ ช่วยดูแลสร้างสมดุล ให้ทุกฝ่าย วิน-วิน ตามนโยบาย"วิน-วินโมเดล" ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และกระทรวงพาณิชย์กำกับราคาน้ำมันปาล์มขวดบริโภคที่แม้ต้นทุนจะสูงมากแต่อย่าให้แพงจนเกินควร
ข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2565 (4 เดือน) มีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดแล้ว 5.75 ล้านตัน มากที่สุดในเดือนมีนาคม จำนวน 1.82 ล้านตัน สำหรับผลผลิตปาล์มน้ำมันในระยะต่อไป มีแนวโน้มลดลง ในเดือนพฤษภาคมจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวน 1.70 ล้านตัน
ราคาผลปาล์ม ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 กิโลกรัมละ 9.80-11.20 บาท เพิ่มขึ้น 52% จากราคาเฉลี่ยปีที่แล้วทั้งปี เมื่อราคาในประเทศเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มขวดบริโภคเพิ่มสูงขึ้นด้วย เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันปาล์มขวดถ้าคิดตามโครงสร้างต้นทุน จะต้องตกประมาณขวดละ 76 บาท แต่จากการบริหารจัดการของกรมการค้าภายในและกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับผู้ประกอบการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถปรับราคาลงจาก 76 บาทเหลือประมาณ 65-68 บาทต่อขวด