สืบเนื่องจาก โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีที่แล้ว (ปี 2564 ) มีการออกแบบหลักเกณฑ์ใหม่ให้พิเศษ สำหรับโรงงานที่มีกำลังการผลิต 5 ตัน/วัน จะได้รับสิทธิพิเศษ ทั้งโควตา ทั้งสิทธิพื้นที่จำหน่าย เข้าร่วมโครงการ เป็นลำดับแรก โดยไม่ต้องมาหารเฉลี่ยน้ำนม จากผลกระทบดังกล่าวทำให้ สหกรณ์/โรงงาน โดนตัดโควตากันระนาว ไปให้กลุ่มนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดรับสมัครผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2565 แล้วนั้น
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงหลักเกณฑ์โครงการนมโรงเรียนในปีนี้ ในส่วนของโรงงาน-สหกรณ์ ที่ขยายสาขา 5 ตัน/วัน นั้นจะไม่คุ้มครองสาขา แต่พอมีบางโรงเอกชน /สหกรณ์ เปลี่ยนชื่อไปตรวจสอบย้อนกลับว่ามีการเปลี่ยนชื่อแบบไหน แต่ได้ยินข่าวว่ามีการเปลี่ยนชื่อกันหมดแล้ว หลังจากที่แตกสาขาปีที่แล้ว ซึ่งหากเปลี่ยนชื่อแล้วมาขอร่วมกับโครงการแบบนี้นักกฎหมายต้องตีความหมายว่าจะเข้าข่ายเล่นแร่แปรธาตุหรือไม่
“วันนี้รายที่แตกสาขาจะต้องไปหารสัดส่วน เท่าเทียมกับรายอื่นๆ ในพื้นที่ไม่ได้สิทธิพิเศษ อย่างปีที่แล้ว โรงาน-สหกรณ์ สาขา 5 ตัน/วัน จะได้จัดสรรพื้นที่ก่อนเป็นลำดับแรก และได้เต็มจำนวน 5 ตัน/วัน ก่อน ที่จะจัดลำดับให้รายอื่นๆ ทำให้รายอื่นในพื้นที่โดนตัดโควตาสัดส่วนน้อยลง เป็นการเอาเปรียบรายอื่น ปีนี้จะเท่าเทียมกัน เพราะการแตกสาขาเป็นรายใหญ่ อีกด้านก็มองว่า ไม่ใช่รายเล็ก"
นายนัยฤทธิ์ กล่าวว่า การออกหลักเกณฑ์แบบนี้ "นมโรงเรียน" ก็ชัดเจน ซึ่งจริงแล้วที่มีความต้องการก็คือ ต้องการไม่ให้คุ้มครองเลย ให้เท่ากันหมดเลย แต่พอหลักเกณฑ์ออกมาแบบนี้ก็เห็นด้วยกับการที่ไม่คุ้มครองสาขา ก็คือ คุ้มครองรายเดียว อาทิ สหกรณ์โคนมโคก่อ หรือสหกรณ์โคนมสอยดาว หรือสหกรณ์โคนมบ้านบึง เป็นต้น คุ้มครองเพื่อให้อยู่ได้ อย่างนี้เห็นด้วย แต่ก็ต้องย้อนไปดูคนที่เปลี่ยนสาขาแล้วเปลี่ยนชื่อ เป็นการเล่นอุบายอะไรออกมาหรือเปล่า จะทำให้คณะกรรมการหนักใจอะไรหรือไม่
“วันนี้อยากให้คณะกรรมการกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ 5 เขต ต้องกลับไปดูว่าถ้าเปลี่ยนชื่อ ให้ย้อนไปดูว่าใช้ชื่ออะไร แล้วปีนี้มาเปลี่ยนชื่อด้วยเหตุผลอะไร รู้หลักเกณฑ์ล่วงหน้าหรือไม่ ถึงได้มีการเปลี่ยนชื่อกันวุ่นวายไปหมด เพื่อหลบหลีกหลักเกณฑ์นี้จึงได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า จึงไม่ยุติธรรมกับเกษตรกร แล้วถ้าไปเปลี่ยนชื่อผมไม่เห็นด้วย”
นายนัยฤทธิ์ กล่าวว่า อยากให้คณะกรรมการระดับจังหวัดต้องตรวจเข้ม โดยเฉพาะรายที่มีการเปลี่ยนชื่อ ซึ่งหลักเกณฑ์ออกมาดีมาก แต่ไปคิดอีกแบบหนึ่ง ถ้ามีการเอื้อให้ไปเปลี่ยนชื่อกันได้ให้เข้ามา ก็วนไปเป็นวัฏจักรเดิม ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ซึ่งมีข้อนี้บรรจุอยู่ในนี้เป็นปีแรก แต่ถ้าทุกคนเลี่ยงไปเปลี่ยนชื่อเพื่อหวังคุ้มครองโรงงาน 5 ตัน/วัน ก็เท่ากับไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
"ดังนั้นคนที่จะสร้างโรงงาน 5 ตัน/วัน ในอนาคตหากหลักเกณฑ์เป็นอย่างนี้คงไม่กล้าลงทุนแล้ว เพราะไม่คุ้มทุน เพราะหากสร้างมาไม่ได้คุ้มครอง จึงไม่สร้างต่ออีกแล้ว จากก่อนหน้านี้ที่มีนโยบายว่าผู้ประกอบการต่างๆ เคยให้ข่าวว่าจะมีการสร้างโรงงานราวกับดอกเห็ด จากอานิสงส์โครงการเอื้อเปิดช่อง แต่วันนี้หลักเกณฑ์ออกมาตรงกันข้ามก็ทำให้สกัดกั้นผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามา 5 ตัน/วัน"
ประกาศคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เรื่อง การรับสมัครผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2565 คลิกอ่าน
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งตรวจสอบน้ำนมดิบทั่วประเทศ (คลิกอ่าน)