ประธานส.อ.ท. ไขคำตอบ ไฉน "Climate Change" จึงเป็นคลื่นหายนะลูกใหญ่สุด

14 พ.ค. 2565 | 02:35 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2565 | 10:04 น.

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวในการเสวนา “ZERO CARBON วิกฤติ-โอกาสไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ระบุทั่วโลกได้ยอมรับแล้วว่า "Climate Change" คือหายนะตัวจริงของมวลมนุษยชาติ

 

ทั้งนี้ได้เท้าความว่าในช่วงที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายตั้งแต่เรื่องดิจิทัล ดิสรัปชั่น ซึ่งในทุกอุตสาหกรรมต่างเจอภัยคุกคามในเรื่องนี้ ขึ้นกับใครจะโดนก่อนโดนหลัง เรื่องนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก ฉะนั้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจะทำอย่างไรให้อยู่รอด เพื่อหนีกระแสเรื่องดิสรัป และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะเราเคยทำอะไรในอดีตที่เป็นความเคยชิน หรือความสำเร็จเก่า ๆ อาจจะไม่สามารถใช้ได้แล้วในยุคนี้

 

ความท้าทายที่ 2 ที่ตามมาคือ Trade War  หรือสงครามการค้า จะเห็นว่ามหาอำนาจอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกคือสหรัฐฯ และจีนทำสงครามการค้ากัน ประเทศเล็ก ๆ อย่างพวกเราก็เป็นหญ้าแพรก

 

เพราะฉะนั้นไทยจะอยู่ได้ยังไงในเมื่อทั้งสองประเทศนี้เป็นคู่ค้าอันดับ 1 และ 2 ของไทย และไทยก็เป็นห่วงโซ่การผลิตส่วนหนึ่งของประเทศจีนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ที่อยู่  ๆ สงครามการค้าก็ทำให้ห่วงโซ่การผลิตของโลกแยกออกจากกัน เกิดการกีดกันกัน เกิดกระแสของการย้ายฐานการผลิตของประเทศในอเมริกา และยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นออกจากจีน เพื่อพยายามลดความเข้มแข็งของประเทศจีนที่เป็นอุตสาหกรรม หรือโรงงานของโลก  

 

ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาภายใต้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทุกอุตสาหกรรมต่างได้รับผลกระทบ โดยหลายอุตสาหกรรมหากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องส่งสินค้าที่เป็นขั้นปฐมภูมิ หรือเป็นวัตถุดิบ อะไหล่ชิ้นส่วนไปให้จีน และจีนไปประกอบเพื่อส่งออกไปอเมริกาเหล่านี้ได้รับผลกระทบในเชิงลบหมด แต่ในทางตรงกันข้ามหากเป็นสินค้าที่เป็นแบรนด์ไทยกลับได้รับออร์เดอร์จากอเมริกาอย่างท่วมท้น เพราะฉะนั้นในวิกฤติมีโอกาส

 

ประธานส.อ.ท. ไขคำตอบ ไฉน \"Climate Change\" จึงเป็นคลื่นหายนะลูกใหญ่สุด

 

ต่อมาไม่ทันไรก็มาเจอโควิด เอสเอ็มอีสลบเหมือดถูกกวาดออกไปหมด และความท้าทายข้างหน้าที่เราเตรียมแล้วคือ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังไม่ทันถึงตรงนั้นก็มีของแถม คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกำลังทำให้เกิดปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ปัญหาเรื่องซัพพลายเชนดิสรัปชั่น  จะเห็นว่าคลื่นลูกที่ 1 คือโควิด 2 ปีกว่าที่พวกเราแย่กันหมด เดินทางไปไหนไม่ได้ แต่ยังถือเป็นคลื่นลูกเล็ก
 

“คลื่นลูกต่อไปที่ใหญ่กว่า ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญอยู่คือ ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ Recession (ภาวะถดถอย)กำลังมา และสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกกำลังแก้ปัญหานี้อยู่ กลัวจะเกิด Recession  และจะไปถึง Stagflation (เศรษฐกิจหยุดนิ่ง) ที่ทุกคนกลัว ก็ยังไม่เท่าไหร่ก็ยังเป็นคลื่นลูกกลาง  แต่คลื่นลูกใหญ่ที่สุด Climate Change  ที่ทั่วโลกยอมรับแล้วว่าอันนี้คือหายนะตัวจริง เป็นหายนะของมวลมนุษยชาติ เพราะว่าถ้าเรายังปล่อยให้การผลิตเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จะส่งผลทำให้อุณหภูมิของโลกมีการเปลี่ยนแปลงและสูงขึ้น ถ้าหลายองศาก็จะส่งผลทำให้น้ำแข็ง หิมะในขั้วโลกละลาย และเกิดน้ำท่วมในหลายประเทศ และจะทำให้เกิดภัยพิบัติ และโรคร้ายต่าง ๆ ที่จะตามมา”

 

ประธานส.อ.ท. ไขคำตอบ ไฉน \"Climate Change\" จึงเป็นคลื่นหายนะลูกใหญ่สุด

 

 

เพราะฉะนั้นทั่วโลกจึงมีการประชุมกันใน COP26 ที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์เมื่อปลายปีที่แล้ว แล้วทุกคนก็ตั้งเป้าในการที่จะทำอย่างไร ในการที่จะใช้พลังงานที่สะอาด ลดการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล ทำยังไงให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส อันนี้คือเป้าหมาย

 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีของไทยได้ไปแสดงเจตจำนงในเวที COP26 โดยประกาศเป้าหมายในปี 2030 ไทยจะลดคาร์บอน 40% ปี 2050 จะเป็นกลางทางคาร์บอน และปี 2065 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero เพราะฉะนั้นนี่เป็นโจทย์ท้าทาย

 

วันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ เพราประเทศไทยเป็นประเทศ  Export ที่เน้นการส่งออกที่เป็นส่วนสำคัญของจีดีพี ซึ่งตลาดใหญ่ของเราคือ ยุโรป อเมริกา และวันนี้โดยเฉพาะยุโรปเป็นหัวเรือใหญ่ในการตั้งมาตรฐานที่เรียกว่า CBAM (Carbon border Adjustment Mechanism) โดยจะการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน) โดยจะเทสต์ก่อน 2 ปี ก่อนจะบังคับใช้มาตรการเต็มรูปแบบในปี  2026 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า

 

สิ่งที่จะเป็นวิกฤติต่อเรื่องนี้คือเราต้องมีการลงทุนใหม่หมด ไม่ว่าเอสเอ็มอี หรือรายใหญ่ โดยกระบวนการผลิตจะทำอย่างไรเพื่อใช้พลังงานสะอาด ทำอย่างไรไม่ปล่อยคาร์บอน ไม่ใช้พลังงานจากฟอสซิล ซึ่งจะทำให้ขบวนการผลิต เครื่องจักร เครื่องยนต์ทุกอย่างต้องเปลี่ยนหมด เราต้องลงทุนมากมายกับเรื่องนี้ แต่ภายใต้ต้นทุนเหล่านี้ เนื่องจากเป็นกติกาโลก เราต้องมองว่าอะไรที่มันจะพลิกวิกฤติตรงนี้ให้เป็นโอกาส

 

“ในการรับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนใหม่เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ผมได้ประกาศวิสัยทัศน์ และนโยบายชัดเจน คือนอกจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เรียกว่าเป็น First Industry ทำอย่างไรให้อยู่รอดแล้ว ท้ายสุดอุตสาหกรรมที่เป็นเน็กเจน อินดัสตรี หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ เราก็มองเป็น 3 ตัว”

 

ตัวที่ 1 ก็คือ S-Curve มี 12 S-Curve ตัวที่ 2 คือ BCG (Bio-Circular-Green)โดยตัว  B (Bio) เป็นตัวที่เรามองว่ามีความหวัง และเราเห็นแสงสว่าง  เพราะว่า Bio Economy  หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เรามีศักยภาพสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมาเราไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เท่าไหร่ เราทำได้เก่งที่สุดคือทำอาหาร อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารอื่น ๆ

 

แต่วันนี้เรากำลังพูดถึง B ที่เป็น Bio-Tech  ที่เอา B นำมาทำอุตสาหกรรมที่มีแวลูเชนสูงสุด คือ ยารักษาโรค อาหารเสริม เป็นไบโอพลาสติก ไบโอคอสเมติกส์ที่เกี่ยวกับเวชสำอาง เราพูดถึงไบโอแฟรบบลิค เส้นใยธรรมชาติที่มาทดแทนเส้นใยจากปิโตรเคมีคอล ไบโอฟูเอล ไบโอเคมีคัล เคมีที่มาจากชีวภาพ ซึ่งรวมถึงปุ๋ยซึ่งวันนี้เรามีปัญหาเรื่องปุ๋ยเคมีที่รัสเซียขณะนี้ไม่ส่งออก ทำให้ราคาปุ๋ยแพงมาก เราควรใช้วิกฤตินี้ทำให้สินค้าทางการเกษตรของไทยเป็นโอกาส จากเทรนด์โลกกำลังต้องการสินค้าที่สะอาด และปลอดภัย ซึ่งไทยจะเพิ่มสัดส่วนสินค้าเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องเดียวกับ Climate Change หากทำได้จะช่วยสร้างโอกาสอีกมาก

 

และตัว C –Circular Economy  คือการเอาของเสีย ของที่เป็นขยะทางอุตสาหกรรม รวมทั้งขยะของเหลือใช้ทางด้านไบโอจากการทำการเกษตรกลับมาเป็นวัตถุดิบ สร้างสินค้าใหม่ลดปัญหาเรื่องขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน

 

“ในเรื่อง Bio(เศรษฐกิจชีวภาพ) กับ Circular(เศรษฐกิจหมุนเวียน) ผมได้ให้นโยบายสมาชิกเกี่ยวกับเรื่อง 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด โดยได้ทำโครงการเกี่ยวกับ BCG ซึ่งอันนี้เราเรียกว่าโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ(Smart Agriculture Industry) หรือ SAI  ซึ่งเป็นโครงการที่เอา BCG มาแปลง จากการทำการเกษตรในอดีตหรือปัจจุบันเอาซัพพลายยเป็นตัวตั้ง อะไรราคาดีแห่กันปลูกหมด เช่น ทุเรียนตอนนี้ทุกคนไปแห่ปลูก โค่นสวนยาง ปลุกทุเรียน และเรามีตลาดอยู่ตลาดเดียวคือจีน อีกประเทศหนึ่งคือฮ่องกงก็คือจีน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดวันนี้จีนไม่กิน หรือมีปัญหาจากเรื่อง ZERO COVID ไทยก็จะลำบาก”

 

ประธานส.อ.ท. ไขคำตอบ ไฉน \"Climate Change\" จึงเป็นคลื่นหายนะลูกใหญ่สุด

 

ดังนั้นนับจากนี้ไปภาคเกษตรของไทยต้องเป็นการเกษตรที่เป็น On Demand และอยู่ในเรื่องของ BCG  และการออกแบบครั้งนี้เราจะทำโครงการแรกในกรุงเทพ เรียกว่า SAI In The City ซึ่งจะพยายามผลักดันให้ทันในการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ในเดือนพ.ย.นี้ เพื่อให้เป็นโชว์เคส ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโครงการที่เรียกว่า Plant Based หรือโปรตีนจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ โดยจะมีการเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก ต้นกล้าอะไรต่างๆ และแปรรูป

 

ประธานส.อ.ท. ไขคำตอบ ไฉน \"Climate Change\" จึงเป็นคลื่นหายนะลูกใหญ่สุด

 

ทั้งนี้ภายใต้อีโคซิสเต็มทุกอย่างจะถูกออกแบบให้เข้ากับเรื่องของ Climate Change ใช้พลังงานสะอาด เรื่องของการบริหารจัดการน้ำ สิ่งแวดล้อมออกมาเป็น Zero Waste มีการคำนวณทั้งหมดเลยว่าในคอมเพล็กซ์นี้ หรือในอีโคซิสเต็มนี้สามารถออกมาเป็นคาร์บอนเครดิตเท่าไหร่ โดยจะทำเป็นโชว์เคสในกรณีที่แขกบ้านแขกเมืองมาประชุม APEC ในไทยปลายปีนี้ ทั้งนี้เมื่อทำเสร็จแล้วจะขยายสเกลออกไปใน 5 ภาคของประเทศก่อนขยายไปในในทุกจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน

 

“ยกตัวอย่างง่ายที่ฟังและจะเข้าใจเลย อย่างเราปลูกมังคุด ซึ่งเป็น Queen of Fruit  และเราก็ส่งออกไป วันนี้เราทำให้มีมูลค่าเพิ่มได้ โดยทำเป็นออร์แกนิค ทำเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้ 30-40% รวมถึงราคา และเราก็เพิ่ม Value โดยการนอกจากเอาเนื้อมังคุดมาอบกรอบเป็นสแน็ก เป็นเครื่องดื่ม เราได้แค่นี้ แต่ตัวที่แพงที่สุดคือสารสีม่วงที่อยู่บนเปลือก ญี่ปุ่น ไต้หวันหลายประเทศซื้อมังคุดไป เอาเปลือกไปสกัด ถ้าสกัดแบบเพียวหรือบริสุทธิ์ที่สุดก็ไปทำยา สร้างมูลค่าเพิ่มได้ 3 เท่า และถ้าเป็นอาหารเสริมก็พันกว่าบาท คอมเมติกส์ก็เกือบล้าน สิ่งเหล่านี้เราพยายามใช้ไบโอเทคทำให้ครอบคลุมและเป็นลักษณะของ On Demand และจะได้รับการประกันราคา หวังวันหนึ่งว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการเกษตรของไทยไปสู่อีกจุดหนึ่งได้” นายเกรียงไกร กล่าว