คนละครึ่ง เฟส 5 ล่าสุด เลขาฯ สภาพัฒน์ ตอบชัดทำต่อไหม มีเงินกู้เหลือเท่าไหร่

17 พ.ค. 2565 | 03:40 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2565 | 10:46 น.

เลขาธิการ สภาพัฒน์ ในฐานะคุมเงินกู้โควิด ยอมรับ โครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ช่วยในเรื่องของการบริโภคได้ดี และลดค่าใช้จ่าย ไปฟังคำตอบชัด ๆ กันว่า โครงการนี้จะทำต่ออีกไหม ล่าสุดมีเงินกู้เหลือเท่าไหร่ พอทำอีกหรือไม่

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การดำเนินมาตรการรัฐเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น การทำโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ตอนนี้คงต้องดูถึงความจำเป็นก่อน โดยต้องดูทั้งระดับการบริโภค และกำลังการใช้จ่ายของประชาชนด้วย

 

“ที่ผ่านมาโครงการคนละครึ่ง แน่นอนว่าจะช่วยในเรื่องของการบริโภคได้ดี ขณะเดียวกันยังเป็นโครงการที่เข้าไปช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนลงด้วย ส่วนจะทำเมื่อไหร่ อย่างไร หรือจะทำหรือไม่ โดย สศช. ต้องหารือกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน”

 

ทั้งนี้เลขาฯ สศช. ยืนยันว่า การจะทำโครงการอะไรในตอนนี้ต้องดูให้รอบคอบจริง ๆ เพราะทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะเงินกู้ที่เหลืออยู่ อีกทั้งการจะออกโครงการก็ต้องดูช่วงจังหวะที่ยิงออกไปด้วย เพราะถ้าไม่ถูกจังหวะจะทำให้การยิงออกไปอาจได้ผลไม่เต็มที่ จึงต้องดูข้อมูลให้ละเอียดก่อน

อย่างไรก็ตามในส่วนของเงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินฯ กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท ล่าสุด มีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท แบ่งแผนการใช้เงินดังนี้

  • การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ผ่านโครงการลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเสนอครม.ในเร็ว ๆ นี้
  • ค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาพยาบาลจากสถานการณ์โควิด-19 ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท
  • ส่วนที่เหลือ 4.8 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่เหมาะสมตามนโยบายรัฐบาลภายในปีนี้

นายดนุชา กล่าวถึงแนวโน้มของการพิจารณากู้เงินเพิ่มเติม ว่า สถานการณ์ในขณะนี้เป็นผลกระทบที่ซ้อนกันมาต่อเนื่องจากโควิด-19 หลาย ๆ ประเทศก็กำลังฟื้นตัวขึ้นมา เช่นเดียวกับประเทศไทย ดังนั้นการจะกู้เงินเพิ่มเพื่ออัดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ คงต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม และปัจจัยต่าง ๆ ให้รอบคอบเสียก่อนจะตัดสินใจกู้เงิน

 

“การจะกู้เพิ่ม หรือใช้มาตรการทางด้านการคลังลักษณะใดควรดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบด้วย เพราะแน่นอนว่า ทรัพยากรมีจำกัดในการจะกู้เงินเพิ่มต้องดูฐานะการคลังในระยะต่อไปด้วยว่าจะมีข้อจำกัดขนาดไหน จะกู้เพิ่มท่าไหร่ กู้เพิ่มยังไง จะไปใช้อะไร ถือเป็นเรื่องที่หน่วยงานทางเศรษฐกิจทุกหน่วยงานต้องมาดูร่วมกัน” เลขาฯ สภาพัฒน์ ระบุ