สศช. ประกาศหั่น GDP ปี 2565 เหลือ 2.5-3.5% ส่วนไตรมาสแรก โต 2.2%

17 พ.ค. 2565 | 01:30 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2565 | 11:23 น.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ สศช. ประกาศภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2565 พบ GDP ขยายตัว 2.2% ส่วนแนวโน้มทั้งปีคาดว่าจะขยายตัว 2.5 - 3.5% หลังเจอปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกของปี 2565 และแนวโน้มปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ขยายตัว 2.2% เป็นผลมาจากการเครื่องชี้เศรษฐกิจขยายตัวเกือบทุกตัว โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า

 

สำหรับเครื่องชี้ต่าง ๆ ในไตรมาสแรกที่ขยายตัว มีดังนี้

 

ด้านการใช้จ่าย

  • การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.9% 
  • หมวดบริการเพิ่มขึ้น 4.4% 
  • หมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 4.1% 
  • หมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว 0.4% 
  • หมวดสินค้าคงทนขยายตัว 3.8% 
  • ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัว 4.6%
  • การลงทุนรวม ขยายตัว 0.8% 
  • การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.9% 
  • การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลง 8.0% 
  • การลงทุนภาครัฐลดลง 4.7% 
  • การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 73,288 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 14.6%
  • การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 64,135 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 16.5% 

 

ด้านการผลิต

  • สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง กลับมาขยายตัว 4.1% 
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 4.7% 
  • สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 1.9%
  • สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูง 34.1% 
  • รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 1.44 แสนล้านบาท ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส
  • อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 36.15% สูงกว่า 26.25% ในไตรมาสก่อนหน้า 
  • สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้น 2.9% 
  • สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพิ่มขึ้น 4.6%
  • สาขาการไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศ เพิ่มขึ้น 2.0%

ส่วนทั้งปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัว 2.5 - 3.5% โดยปรับลดลงจากเดิมที่ประเมินว่าจะขยายตัว 3.5 – 4.5% เพราะยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่ขยายตัวลดลง รวมทั้งปัจจัยราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยประเมินเครื่องชี้ต่าง ๆ ดังนี้ 

  • มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ จะขยายตัว 7.3% 
  • การอุปโภคบริโภคขยายตัว 3.9%
  • และการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.5% 
  • การลงทุนภาครัฐขยายตัว 3.4% 
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในช่วง 4.2 - 5.2% 
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุล 1.5% ของ GDP
     

"ภาวะขัดแย้งในรัสเซียและยูเครน แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวอยู่ แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เพราะจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน และปัจจัยการผลิต ทั้งปุ๋ยและข้าวสาลี ที่ไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน" เลขาฯ สศช. ระบุ

ส่วนประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ 

 

1.การรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ประกอบด้วย

  • การติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 
  • การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน 
  • การดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต 
  • การดูแลกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า 

 

2.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย

  • การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ 
  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง 
  • การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจ 
  • การยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน 

 

3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า ประกอบด้วย

  • การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน 
  • การพัฒนาสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน 
  • การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และการเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ 
  • การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต 

 

4.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ประกอบด้วย

  • การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง 
  • การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ 
  • การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิง
  • การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ 
  • การลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ 
  • การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น 

 

5.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 

 

6.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ประกอบด้วย

  • การบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเพื่อเตรียมการรองรับฤดูกาลเพาะปลูก 
  • การบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 

 

7.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก