ศักดิ์สยาม-อนุทิน ประชุมสุดยอดด้านการบินชางงี 65 ถกฟื้นฟูการบินหลังโควิด

17 พ.ค. 2565 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2565 | 16:36 น.

“ศักดิ์สยาม-อนุทิน” บินร่วมประชุมสุดยอดด้านการบินชางงี 65 ที่สิงคโปร์ ถกผู้นำระดับประเทศ ลุยฟื้นฟูภาคการบินหลังเกิดโควิด-19 ระบาด ฟาก ICAO ตั้งเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ปี 2050

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดด้านการบินชางงี 2565 (Changi Aviation Summit 2022) ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการแซนด์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ร่วมกับผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศด้านการบิน เพื่อหารือในประเด็นสำคัญด้านการบิน อาทิ การฟื้นฟูภาคการบินภายหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และการพัฒนาภาคการบินที่ยั่งยืนและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดยสอดคล้องกับมาตรฐานด้านการบินระหว่างประเทศของ ICAO 

 

 


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าร่วมอภิปรายในช่วงการประชุมหัวข้อ “Clearer and Greener Skies Ahead” โดยได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินการของประเทศไทยในประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ อาทิ การดำเนินมาตรการเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนสำหรับภาคการบิน เพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผน CORSIA ของ ICAO และ ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ 
 

นอกจากนี้ประเทศไทยได้ร่วมกับรัฐมนตรีขนส่งของอาเซียนแสดงการสนับสนุนและผลักดันให้กระทรวงคมนาคมในกลุ่มประเทศอาเซียนร่วมจัดทำมาตรฐานในการตรวจสอบเอกสารการเดินทางโดยเฉพาะใบรับรองการวัคซีนเพื่อเดินทางระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยฟื้นฟูภาคการบินจากการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ในภูมิภาคอาเซียนให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป  

ศักดิ์สยาม-อนุทิน ประชุมสุดยอดด้านการบินชางงี 65 ถกฟื้นฟูการบินหลังโควิด

 


นายเอส อิสวารัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิงคโปร์ ได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุม โดยเน้นประเด็นสำคัญ 3 ประการในการฟื้นฟูภาคการบิน ได้แก่ 1.การพัฒนาศักยภาพในการรองรับความต้องการในการขนส่งทางอากาศและการฟื้นฟูภาคการบินให้คืนสู่สถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดเช่นเดียวกันนี้อีกในอนาคต 2.การพัฒนาประสิทธิภาพของภาคการบิน โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขนส่งทางอากาศ 3.การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยร่วมดำเนินการตามแผนการชดเชยและลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการบิน (CORSIA) โดยสิงคโปร์ได้จัดทำแผนแม่บทสำหรับหน่วยงานจากภาคส่วนต่าง ๆ ใช้ดำเนินการร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 
 

นายแซลวาทอร์ ไซแอคชิตาโน ประธานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำการสร้างความยืดหยุ่นและความยั่งยืนในภาคการบิน เพื่อฟื้นฟูภาคการบินจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และรองรับความต้องการของการขนส่งทางอากาศ โดยสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกนำข้อเสนอแนะของ ICAO มาปรับใช้ อีกทั้งเน้นย้ำการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยการสร้างความยืดหยุ่นและนวัตกรรมใหม่ด้านการบินจะเป็นประเด็นหารือที่สำคัญในการประชุมสมัชชาสมัยสามัญ ครั้งที่ 41 ของ ICAO ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในปีนี้ 

ศักดิ์สยาม-อนุทิน ประชุมสุดยอดด้านการบินชางงี 65 ถกฟื้นฟูการบินหลังโควิด

 


อย่างไรก็ตามในช่วงการประชุมยังมีการกล่าวถ้อยแถลงโดยผู้แทนระดับสูงจากภาคอุตสาหกรรมด้านการบิน ได้แก่ นายวิลลี่ วอลช์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และนายลูอิส เฟลิป เดอ โอลิเวเรีย ผู้อำนวยการสภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (ACI) ได้ร่วมกันกล่าวถ้อยแถลงเพื่อเน้นย้ำบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนการพัฒนาท่าอากาศยานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสายการบินเพื่อบูรณาการการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูภาคการบิน และบรรลุเป้าหมายปณิธานระดับโลกด้านการบินในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการบิน เพื่อการบินที่ยั่งยืนสำหรับประชาคมโลก