ผบ.ตร. ตั้ง “บิ๊กโจ๊ก” ขยายผลคดี Seabook แรงงานข้ามชาติในเรือประมง

12 พ.ค. 2565 | 11:49 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2565 | 19:41 น.

ผู้ประกอบการเรือประมง มีหนาว “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” ตั้ง “บิ๊กโจ๊ก” ขยายผลคดี Seabook แรงงานข้ามชาติในเรือประมงเพื่อขยายผลผู้กระทำผิด ที่เกี่ยวข้องกันเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงเจ้าหน้าที่รัฐ

คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่  218/2565 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เรื่อง แต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน ด้วยได้รับรายงานจาก พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติความว่า เมื่อวันที่ 18  มีนาคม 2565  ประมงจังหวัดชลบุรี ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสัตหีบ ให้ดำเนินคดีกับ นายประสิทธิ์ พงษ์พิศิษฎ์กุล เจ้าของเรือแสงเจริญการประมง 11 และเรือแสงเจริญการประมง 12 กับ นางสาวธมลวรรณ พงษ์พิศิษฎ์กุล เจ้าของเรือแสงเจริญการประมง 5 และเรือแสงเจริญการประมง 7

 

ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม สถานีตำรวจภูธรสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รับคำร้องทุกข์ไว้ตามคดีอาญาที่ 576 /256  , เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ประมงจังหวัดชลบุรีได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเสม็ด ให้ดำเนินคดีกับ นางวารี โพธิ์อรุณเจ้าของเรือ ส.กิจณรงค์ ในข้อหา แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน

 

โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือประชาชน สถานีตำรวจภูธรเสม็ด จังหวัดชลบุรี รับคำร้องทุกข์ไว้ตามคดีอาญาที่ 680/2565 และเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 กลุ่มเจ้าของเรือประมง ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรสัตหีบ ให้ดำเนินคดีกับ นางสาวสมัชชา มีใจดี  ในข้อหา ฉ้อโกงประชาชน กรณีว่าจ้าง นางสาวสมัชชา มีใจดี ในการขอออกหนังสือคนประจำเรือของบุคคลต่างด้าวปลอม สถานีตำรวจภูธรสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รับคำร้องทุกข์ไว้ตามคดีอาญาที่ 506/2565 เนื่องจากคดีดังกล่าวข้างต้นเป็นคดีสำคัญที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ มีลักษณะการกระทำความผิดเกิดขึ้นต่อเนื่องเกี่ยวพันกันหลายท้องที่ ต่างกรรมต่างวาระ

คดีมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนและมีความเกี่ยวพันกับกฎหมายหลายฉบับ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบ

 

โดยพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติม

 

ประกอบคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556  เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัด การสอบสวนคดีอาญา บทที่ 4  ข้อ 2.5.4 จึงแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน เพื่อรับผิดชอบทำการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่ 576/2565 ของสถานีตำรวจภูธรสัตหีบ จังหวัดชลบุรี , คดีอาญาที่ 680/2565  ของ สถานีตำรวจภูธรเสม็ด จังหวัดชลบุรี และคดีอาญาที่ 506/2565 ของ สถานีตำรวจภูธรสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตลอดจนความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการปลอมหนังสือคนประจำเรือ (Sea Book) ก็ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งนี้ด้วย โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้

 

องค์ประกอบสำคัญแต่งตั้ง 

 

  • พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน

   

  • พลตำรวจตรี พนัญชัย ชื่นใจธรรม รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เป็นรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน

 

  • พลตำรวจตรี อาชยน ไกรทอง รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน

 

  • พลตำรวจตรี ศุภเศรษฐ์ โชคชัย รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เป็นรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน

 

  • พลตำรวจตรี ไพโรจน์ กุจิรพันธ์  ผู้บังคับการกองอุทธรณ์ เป็นรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน

 

 

  • พันตำรวจเอก จักริน พันธ์ทอง รองผู้บังคับการกองวิจัย สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ เป็นเลขานุการ

 

  • พันตำรวจโท เทวกฤต มณีรัตน์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

 

  • พันตำรวจตรี ไมตรี สกุลศิลปกิจ สารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลเตาปูน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

 

  • ร้อยตำรวจเอก ภาณุวัฒน์ สวาสดิ์นา รองสารวัตร (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

 

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน ปรากฏตามบัญชีแนบท้าย ผนวก ก โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

 

1.เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทำการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาในความผิดดังกล่าว รวมทั้งความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และหากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีผู้อื่นร่วมกระทำความผิดหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกัน ก็ให้มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดนั้น ๆ แล้วรายงานผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ

 

2.กำหนดแนวทางการสอบสวนให้ครอบคลุม ครบถ้วน ตามพฤติการณ์แห่งคดี และองค์ประกอบความผิด เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

 

3.ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ผู้ใช้ ตัวการ และผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดให้ครบถ้วน

พนักงานสืบสวน ปรากฎตามบัญชีแนบท้าย ผนวก ข โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

 

1.ทำการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อทราบรายละเอียดแห่งความผิดของบุคคล กลุ่มบุคคล และเครือข่ายอาชญากรรมในกรณีดังกล่าว

 

2.ขอข้อมูล เอกสาร จากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการสืบสวน

 

3.นำพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวน สนับสนุนการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

 

4.รายงานผลการดำเนินการให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทราบทุกระยะอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ลงนามโดย พลตำรวจเอก สุวัฒซ์ แจ้งยอดสุขผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

 

แนบคำสั่ง

ประกาศคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

ผบ.ตร. ตั้ง “บิ๊กโจ๊ก” ขยายผลคดี  Seabook แรงงานข้ามชาติในเรือประมง