นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม THAIFEX-ANUGA ASIA ได้เคยจัดขึ้นในรูปแบบ On Ground อย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี แต่เนื่องจากปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงและกระจายวงกว้าง จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเป็นงานแสดงสินค้าอาหารเสมือนจริง THAIFEX - Virtual Trade Show (VTS) โดยจัดเจรจาธุรกิจออนไลน์หรือ Virtual - Online Business Matching (V-OBM) ผ่านแพลตฟอร์ม www.thaifex-vts.com
สำหรับปีนี้ สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการและเดินทางระหว่างประเทศได้แล้ว ผู้จัดงานทั้ง 3 ฝ่าย จึงเห็นพ้องต้องกันที่จะจัด THAIFEX-ANUGA ASIA ให้ยิ่งใหญ่ในรูปแบบ On Ground Trade Show เช่นเดิม
แต่ยังคงการจัดงานแสดงสินค้าอาหารเสมือนจริงควบคู่กัน เพื่อรองรับผู้ที่ยังไม่สะดวกเดินทาง โดยใช้ชื่องานปีนี้ว่า THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 The Hybrid Edition จัดภายใต้คอนเซ็ปต์ Re-imagine the Future of Food & Beverage Industry
“งานนี้จะเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ยิ่งใหญ่และครบวงจรที่สุดแห่งเอเชีย เป็นเวทีการค้าระดับโลกที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศต่าง ๆ จะมาเจรจาธุรกิจทั้งแบบ On Ground Trade Show และ Virtual Trade Show กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 28 พฤษภาคมนี้ ในส่วนของ On Ground จัดบนพื้นที่จริงที่ Challenger Hall 1-3 และ IEC Hall 5-10 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นวันเจรจาการค้าทั้ง 5 วัน และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม และซื้อสินค้าได้ในวันสุดท้าย ซึ่งยังคงมาตรการป้องกันโควิด-19 และดูแลสุขอนามัยของผู้เข้าร่วมงานอย่างเคร่งครัด” นายภูสิต กล่าว
ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติเมื่อทราบว่างาน THAIFEX-ANUGA ASIA ในปีนี้จะกลับมาจัดในรูปแบบ On Ground อีกครั้งให้การตอบรับเข้าร่วมงานเป็นอย่างดี โดยในฝั่งผู้นำเข้าที่ทางทูตพาณิชย์ทั้ง 58 แห่งทั่วโลก ได้เชิญเข้ามาร่วมงานนั้น ก็ได้แจ้งยืนยันการเดินทางมาร่วมงานอย่างคับ
นอกจากนี้ ยังได้คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้เข้าชมงานในรูปแบบ On Ground รวม 75,000 ราย ผู้เยี่ยมชมผ่านแพลตฟอร์ม www.thaifex-vts.com มากกว่า 3,500 ราย และได้ตั้งเป้าว่างานนี้จะเกิดยอดเจรจาสั่งซื้อประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดสั่งซื้อจากการจัดงาน On Ground 9,550 ล้านบาท และยอดสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์ม www.thaifex-vts.com เป็นมูลค่าสูงถึง 450 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบการจัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 The Hybrid Edition ในส่วนของ On Ground Trade Show จะมีสินค้ามาจัดแสดง 11 โซนสินค้า ประกอบด้วย สินค้าอาหารทุกประเภท อาหารทะเล อาหารแช่แข็ง เนื้อสัตว์ ข้าวและธัญพืช ผักและผลไม้ สินค้าอาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ชาและกาแฟ เครื่องมือ/เครื่องใช้/อุปกรณ์ รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
นอกจากนี้ ยังมีโซนพิเศษสำหรับจัดแสดงสินค้าในกลุ่มฮาลาลและออแกนิกส์ อาหารนวัตกรรม รวมถึงสินค้าอาหารจากส่วนภูมิภาคที่จังหวัดต่าง ๆ และกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าผลไม้ศักยภาพของไทย อาทิ ทุเรียน มังคุด โดยจัดให้มีบริการสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-order) กับเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง รวมทั้งกิจกรรมจัดแสดงสินค้าแห่งอนาคต (Future Food) ของผู้ประกอบการไทยที่เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้นในตลาดโลก
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยมีมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ คิดเป็นสัดส่วน GDP อาหารต่อ GDP ประเทศอยู่ที่ 5.5% โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ที่ 2.3% และเป็นอันดับ 4 ของเอเชียรองจากจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย การจัดงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA
จะทำให้ผู้ประกอบการไทยทั้ง SMEs รายใหญ่ รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ ได้นำสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดทั้งในประเทศและสากล ได้พบปะกับผู้ซื้อที่มีศักยภาพทั้ง On Ground และ Virtual รวมทั้งได้นำเสนอสินค้าที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ตามเทรนด์ความต้องการของโลก และเทรนด์อาหารยุคใหม่ ซึ่งงาน THAIFEX–ANUGA ASIA พร้อมที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการให้ประสบความสำเร็จและเติบโต
“ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศต่างมีความพร้อมในการนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพและนวัตกรรมใหม่ออกไปสู่สายตานานาประเทศ อีกทั้งได้มีการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ตามเทรนด์ยุคใหม่ มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับตลาดและความต้องการของผู้บริโภค โดยขณะนี้ มีผู้ส่งออกไทยยืนยันเข้าร่วมงานแล้วกว่า 722 ราย 2,085 คูหา โดยเป็น SMEs กว่า 400 ราย สำหรับผู้เข้าชมงาน ได้รับการติดต่อที่จะเข้าเยี่ยมชมงานทั้งจากในและต่างประเทศผ่านช่องทางต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากงานนี้มีความหลากหลายของสินค้ามีตั้งแต่ระดับ Niche Market จนถึง Commodity และมีผู้เล่นในตลาดทุกระดับ” นายวิศิษฐ์ กล่าว
ขณะที่นายแมธเธียส คูเปอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคโลญเมสเซ่ จำกัด กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าจากต่างประเทศและผู้นำเข้าสินค้า 815 ราย บนพื้นที่ 11,592 ตร.ม. ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับงานล่าสุดในปี 2563 และแม้จะมีกฎระเบียบด้านการเดินทางที่เข้มงวดสำหรับบางประเทศ แต่จำนวนผู้ร่วมแสดงสินค้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของงานนี้ที่ช่วยผลักดันการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอาหารในภูมิภาค โดยผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศและผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวมาจาก 35 ประเทศ
กลุ่มใหญ่ที่สุดมาจากเกาหลีใต้ รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม อิตาลี มาเลเซีย และตุรกี และขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโปรแกรม Hosted Buyers อย่างคับคั่ง โดยบริษัทรายใหญ่ของโลก อาทิ Dole Asia และ NTUC ก็ได้ยืนยันที่จะเข้าร่วมงานนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการจัดงานในรูปแบบปกติยังคงมีความสำคัญต่อธุรกิจ ในขณะที่ผู้แสดงสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานในพื้นที่จริงเช่น จีน ก็ได้เข้าร่วมงานแบบเสมือนจริง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจต่างต้องการเข้าร่วมงานนี้ และพวกเขาได้ทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะข้อจำกัดด้านการเดินทาง
“ในงานนี้มีเทรนด์ใหม่ที่โดดเด่น คือ ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ตอบรับกระแสความยั่งยืน รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากพืช และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากอาหารสะอาด (Clean label) ซึ่งในปีนี้เราได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 20% ของพื้นที่ทั้งหมด และเพื่อตอบสนองเทรนด์ด้านอาหารที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน” นายแมธเธียส กล่าว