นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเผยผ่าน งานสัมมนา The Big Issue 2022:ผลไม้ไทย ผลไม้โลก ช่วงเสวนาปฏิบัติการรวมพลัง ทุเรียนแสนล้าน ฝ่าด่าน ZERO COVID กล่าวว่า “ผลไม้เมืองร้อน” โดยเฉพาะทุเรียน เชื่อว่าทุกคนจะนึกถึงประเทศไทยนั่นคืออัตลักษณ์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ที่มีความเข้มแข็งและชัดเจนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉายา “คิง ออฟ ฟรุ๊ต” หรือ ราชผลไม้ ก็คือ ทุเรียน ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2564 มียอดการส่งออก มีมูลค่าสูงกว่า 8 แสนล้าน
สำหรับในปีนี้เองเรื่องการขยายพื้นที่การเพาะปลูกทุเรียนในเรื่องของการตลาดทำให้มีเรื่องของการส่งเสริมการเพาะปลูกทุเรียนมากยิ่งขั้น พื้นที่การเพาะปลูกทุเรียนกว่า 9 แสนไร่เศษ ผลผลิตในปี 2565 จะมีปริมาณ 1.2 ล้านตัน สำหรับผลไม้อื่นๆ เช่นมังคุด ปริมาณ 2.7 แสนตัน ลำไย ปริมาณ 1.5 ล้านตัน เงาะ ปริมาณ 2.8 แสนตัน ดังนั้นโอกาสของพี่น้องเกษตรกร โอกาสของประเทศไทยในการสร้างรายได้เข้ามามีมากมาย
“กรมวิชาการเกษตร” มีบทบาทหน้าที ตั้งแต่ต้นต้นน้ำ วิจัย รวบรวมพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์พืช อนุรักษ์ รวมถึงการใช้กฎหมายควบคุมการป้องกันปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือทุเรียนอ่อน รวมทั้งกำกับควบคุมติดตามมาตรฐานการปฏิบัติการเกษตรทีดี หรือ “GAP” หรือ “GMP PLUS” รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เกษตรอัจฉริยะ พัฒนาสายพันธุ์”
รวมทั้งปฏิบัติตามข้อตกลงโดยเฉพาะในเรื่องของข้อตกลงองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ในเรื่องของ โควิด-19 ที่อาจจะมีเชื้อมาติดกับบรรจุภัณฑ์ หรือตัวของสินค้า โดยเฉพาะนโยบายของคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศจีน ระบบ “zero covid” เข้มงวด เมื่อมีการระบาดโรคโควิดระลอกใหม่กระทบในเรื่องโลจิสติกซ์ทั้งระบบ
กรมวิชาการเกษตร ประสานกับทูตเกษตรที่อยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีน (ปังกิ่ง ,เซียงไฮ้,กว่างโจว) นำมาปรับปรุงเพื่อให้กฎเกณฑ์เพื่อที่จะส่งออกสินค้าแสนล้านเข้าสู่ประเทศจีนอย่างราบรื่น
นอกจากนั้นยังอำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์เรื่องดิน ปุ๋ย ให้ความรู้เกี่ยวกับพี่น้องเกษตรกรในเรื่องการกำจัดแมลงศัตรูพืชต่างๆ นี่เป็นกรอบการทำงานและภารกิจที่จะทำให้การส่งออกทุเรียนแสนล้าน อย่างราบรื่นและมีความมั่นคง
ในเรื่องคุณภาพมาตรฐานจะต้องเข้มงวดอย่างยิ่งในการส่งเสริมธุรกิจแสนล้าน กรมวิชาการเกษตร จะต้องทำงานอย่างบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางจังหวัดจันทรบุรีเอง มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในประเทศ ตามด้วยชุมพร ระยอง ตราด ซึ่งทางกรมได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างดี
โดยทางจังหวัดได้ออกประกาศต่างๆ ในการควบคุมดูแลคุณภาพทุเรียน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการตัดทุเรียนอ่อน การกำหนดวันตัด หรือ การควบคุมให้โรงงานคัดบรรจุ (ล้ง) มีมาตรการป้องกันโรค “โควิด-19” ควบคู่กับประกาศกรมวิชาการเกษตร ดังนั้นมาตรการที่เข้มงวดในทุกมิติ มาตรฐานจะต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปถึงพี่น้องเกษตรกรผู้ประกอบการต่างๆ
นายระพีภัทร์ ได้ให้ข้อสังเกต ว่า เมื่อ “ทุเรียน” เป็นสินค้าเกษตรกรดาวรุ่งแสนล้าน ในเรื่องของการวิจัย พัฒนาควรจะต้องมีเงินกลับเข้ามาสู่ในเรื่องของการวิจัยพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ๆที่ได้พูดอยู่ หรือ สายพันธุ์ดั้งเดิม แต่จะทำอย่างไรให้ทุเรียนเหล่านี้มีการทนทานต่อโรค หรือมีรสชาติที่ตอบสนองผู้บริโภคในหลายมิติ ควรจะใช้โอกาสในการประชุมเอเปคของประเทศไทย จะมีการประชุมรัฐมนตรีเกษตรและอาหารเช่นเดียวกัน จะเสนอให้มีกลุ่มวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจีโนม สำหรับสินค้าดาวรุ่งในพืชต่างๆ
"ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน กัญชา กัญชง กระท่อม ถ้าเรามีการใช้เทคโนโลยีระดับสูง เข้ามาน่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาต่อยอดได้อย่างดี รวมทั้งการปรับปรุงห้องปฎิบัติการต่างๆ ในพื้นที่สำคัญมากเลย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการตรวจสอบสารตกค้าง ตรวจสอบเรื่องแมลงศัตรูพืช หรือตรวจสอบในเรื่องคุณภาพ สิ่งเหล่านี้หากมีการกระจายการจัดตั้งศูนย์วิจัย ห้องแล็บ ให้ทั่วถึงจะทำให้ธุรกิจแสนล้านมีความยั่งยืน"