เกษตรฯ ไฟเขียวรับรองสวน 6 บิ๊ก “ไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว” ป้องตลาด 1.3 หมื่นล้าน

19 พ.ค. 2565 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 19:53 น.

เปิดตัว 6 บริษัท กรมวิชาการเกษตร รับรองสวนไม่ใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว” ป้องส่งออก 1.3 หมื่นล้าน ชาวสวนโอด โรงงานจำกัดรับซื้อหันใช้มะพร้าวนอก ทุบราคาร่วง ร้องรัฐช่วยหากต่ำกว่า 12 บาทต่อลูก ให้ระงับนำเข้าทันที ด้านสมาคมฯ โอดต้นทุนพุ่ง ปรับขึ้นราคา ลูกค้าชะลอออร์เดอร์

จากองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรมของสหรัฐอเมริกา (People  for the Ethical treatment of Animals : PETA) ได้เคยรายงาน การตรวจพบการทารุณกรรมในสวน 8 แห่งในประเทศไทย โดยระบุมีการนำลิงจากป่ามาล่ามโซ่และทารุณ เพื่อฝึกหรือบังคับ ให้เก็บมะพร้าวกว่า 1,000 ลูกต่อวัน ได้เรียกร้องให้ผู้บริโภคไม่สนับสนุนการใช้แรงงานลิงและหลีกเลี่ยงสินค้าและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทยนั้น

 

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีดังกล่าวนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรแจ้งผู้ประกอบการให้ทราบถึงประเด็นปัญหาและให้หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบมะพร้าวที่เก็บโดยลิง รวมถึงควรสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ใช้มะพร้าวที่เก็บโดยลิง มีทั้งหมด 6 บริษัทที่ได้รับการรับรองเครือข่ายสวนที่ไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าวแล้ว ดังนี้

  1. บริษัท วราฟู้ดแอนด์ดริ้ง จำกัด (บจก.)
  2. บจก.ทิปโก้ ไพน์ แอปเปิ้ล
  3. บจก.ผลิตภัณฑ์อาหารเชฟช้อย
  4. บริษัท ไทย อกริฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)(บมจ.)
  5. บมจ.ไทย โคโคนัท
  6. บจก.ทวีวงษ์ การเกษตร

 

นอกจากนี้กรมฯ ยังได้แก้ปัญหาดังนี้

  1. สนับสนุนผลิตหน่อมะพร้าวสายพันธุ์ดี (ต้นเตี้ย) และส่งเสริมการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนมะพร้าวสายพันธุ์ไทยทีมีอายุมากและต้นสูง
  2. ประชาสัมพันธ์เครื่องปีนมะพร้าวซึ่งเป็นเครื่องต้นแบบ (Prototype) ของกรมวิชาการเกษตร ให้มีการนำไปใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการเก็บเกี่ยวมะพร้าวผลแก่ จากมาตรการแบบนี้มั่นใจจะรักษาการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

 

พงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ราคามะพร้าว ณ เวลานี้เริ่มมีสัญญาณปรับตัวลดลง โดยราคามะพร้าวอินทรีย์ (ไม่ใช้สารเคมี) ที่ส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ราคาลูก 20 บาท ส่วนมะพร้าวเคมี (มะพร้าวซื้อขายทั่วไป) เหลือลูกละ 11 บาท (รวมค่าบริหารจัดการแล้ว)

ส่วนมะพร้าวขาว (มะพร้าวกะเทาะเปลือกแล้ว) เหลือ 25 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ซึ่งขณะนี้โรงงานเริ่มจำกัดการรับซื้อ จากมีการนำเข้ามะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมากะเทาะเปลือกในหลายหมู่บ้าน

 

“หากราคามะพร้าวต่ำกว่าลูกละ 12 บาท อยากเสนอให้รัฐบาลสั่งโรงงานให้หยุดนำเข้าทันที ที่ผ่านมาได้การเสนอทางเลือกการผลิตมะพร้าวอินทรีย์ให้ชาวสวน แต่ยังได้รับการตอบสนองน้อยมาก แสดงว่าเกษตรกรยังไม่ปรับตัว ยังใช้วิธีทำการเกษตรแบบเดิม แม้ราคามะพร้าวอินทรีย์กับมะพร้าวเคมีราคาจะต่างกันเป็นเท่าตัวก็ตาม”

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

 

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้ามะพร้าวแปรรูปของไทยปี 2564 มีมูลค่ารวม 13,358 ล้านบาท ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วน 2 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าส่งออก 2,754 ล้านบาท ขยายตัวถึง 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีในแง่ต้นทุนการผลิตและส่งออกของผู้ประกอบการขณะนี้สูงขึ้นต่อเนื่องจากต้นทุนกระป๋องบรรจุ พลังงาน ค่าขนส่ง ทำให้โรงงานจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า ส่งผลเวลานี้ลูกค้าสั่งซื้อลดลง หรือชะลอคำสั่งซื้อ

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3784 วันที่ 19 -21 พฤษภาคม 2565