เวทีสัมมนา “Thailand Digital Fast Forward อัพสปีดเศรษฐกิจดิจิทัล จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และสำนักข่าวสปริงนิวส์ สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการ ความก้าวหน้า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ทั้งนโยบายภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน
โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เศรษฐกิจดิจิทัล อนาคตประเทศไทย” ว่าในยุคที่โลกต้องเผชิญความท้าทายหลากหลายรูปแบบ ที่ทำให้บริบทของโลกเปลี่ยนไป รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับเทรนด์ของโลกที่ก้าวเข้ายุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจนเข้มแข็ง โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยจะเติบโต และมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของจีดีพีประเทศได้ และเชื่อว่าภายในปี 2573 เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยจะมีสัดส่วน 30% ของจีดีพี
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปว่าแผนงานที่ กระทรวงดิจิทัลฯ จะดำเนินการถัดไปหลังจากนี้เพื่อปลดล็อคการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ คือ 1.ดิจิทัล ไอดี (Digital ID) ที่ช่วยให้การยืนยันตัวตนทางออนไลน์ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยขณะนี้กำลังคุยกับกระทรวงมหาดไทย จัดทำระบบยืนยันตัวตนผ่านการสแกนใบหน้า ซึ่งตั้งใจจะทำให้เสร็จภายในปีนี้ และ 2. ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เข้ามาช่วยในการกำกับดูแลดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขณะนี้ ร่าง พรฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พศ.
ด้านพล.อ.ท.ดร ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ทั้ง 5 คนเป็นคนเสนอตัวเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้เอง แม้ขณะนี้การทำงานของกสทช.กำลังเป็นที่จับตาของสังคมและจากหลายภาคส่วน เพราะกสทช.ได้รับการสรรหามาตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนั้น การทำงานทุกอย่างต้องเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ สำหรับแนวทางการทำงานของ กสทช.ในยุคที่ดิจิทัลดิสรัปชั่นแทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกๆอย่าง ดังนั้น จึงต้องพยายามปรับขอบเขตการทำงานจากการ “กำกับดูแล” เราต้องหันมา “ส่งเสริมอุตสาหกรรม” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
ขณะที่ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA กล่าวว่า ภาพรวมและนโยบายของ DGA ในการเดินหน้าพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องขีดความสามารถการแข่งขันนั้นภาครัฐมีความสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทุกหน่วยงานต้องปรับตัวเป็นรัฐบาลดิจิทัล ในความหมาย คือ ยกระดับนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาครัฐ เปลี่ยนโฉมภาครัฐเปลี่ยนการทำงานใหม่เข้าสู่ระบบดิจิทัล โดยภายใน 5 ปี หลังจากนี้ระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐจะยกระดับขึ้นเป็นเบอร์สองของอาเซียน
เอกชนชี้ดิจิทัลพลิกชีวิต-โลกธุรกิจ
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า วันนี้ดิจิทัลอีโคโนมีมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในหลากหลายมิติ และจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังยุคการแพร่ระบาดโควิด-19 ผลักดันให้การฟื้นตัวทำได้รวดเร็วมากขึ้นข้อมูลโดยไอดีซีระบุว่า ปี 2563 ท่ามกลางสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและตัวเลขจีดีพีที่ตกลงราว 2.8% ทว่าการใช้จ่ายด้านไอทีกลับเติบโตเพิ่มขึ้น 5% เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของดิจิทัลได้เป็นอย่างดี สำหรับปีนี้ไอดีซีคาดการณ์ไว้ว่ากว่า 50% ของเศรษฐกิจทั่วโลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล
สำหรับไทย นับเป็นผู้นำด้าน 5 จี ในระดับภูมิภาคและระดับท็อปของโลก ที่ผ่านมาได้เห็นทั้งการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม มีจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 5 ล้านคน มากที่สุดในระดับภูมิภาค มากกว่านั้นเป็นผู้นำด้านฟิกซ์บรอดแบนด์ที่มีสัดส่วนการเข้าถึงกว่า 58.96% ขณะที่ระดับโลก 56% ไม่เพียงเท่านั้นมีการปรับใช้คลาวด์อย่างเป็นรูปธรรมจากเดิม 59% เพิ่มขึ้นไปเป็น 78% ที่น่าสนใจมีการผสมผสานการใช้งานเอไอในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนำปรับและผสมผสานในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต้องทำภายใต้บริบทโลกใหม่ ที่ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว การปรับตัวเพื่อให้พร้อมล่าสุด AIS ได้ยกธุรกิจระดับสู่ Cognitive Telco ซึ่งการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีมีผลบวกอย่างมากกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และตั้งแต่ AIS ให้บริการ 5 G ใช้เงินลงทุนโครงข่ายไปไม่ตํ่ากว่า 60,000 ล้านบาท หากรวมกับการประมูลใบอนุญาตก็น่าจะเกิน 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงข่าย 5G ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล เท่ากับการสร้างโอกาสมหาศาลของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม โดยมีการประเมินว่าในปี 2025 มูลค่าของตลาด 5G ในประเทศไทยจะเติบโตได้สูงถึง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดย AIS 5G ต้องสามารถเสริมศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างดีด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งทัดเทียมนานาชาติ
ขณะที่นายเอกราช ปัญจวีณิน กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีที่จะสร้างอิมแพคเพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น และให้ธุรกิจสามารถนำมาควบรวมและประยุกต์ใช้ มีทั้งหมด 5 เทรนด์ได้แก่ ไอโอที เอไอ บล็อกเชน เมตาเวิร์สซึ่งฮิตมาก และโรโบติก ทั้ง 5 เทรนด์นี้คือเทรนด์ใหญ่ที่จะเห็นใน 2-3 ปีนี้และจะสร้างอิมแพคให้เกิดขึ้น นี่คือ 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่มาแน่ ธุรกิจต้องหยิบจับแล้วนำไปควบรวมเพื่อต่อยอดให้ธุรกิจ อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ดาต้า การเอาดาต้ามาทำให้เกิดอินไซด์มากเท่าไหร่ ธุรกิจจะประสบความสำเร็จมากเท่านั้น
ส่วนนายฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่าดิจิทัลกำลังเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนเข้ามาพลิกวิถีการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน ดีแทคมีจุดยืนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ผลักดันในวาระดิจิทัลของประเทศ ด้วยหัวใจสำคัญใน 3 เสาหลัก1. SAFEGUARD ปกป้องผู้ใช้งาน ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และโลกของเรา, 2. INCLUDE สร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมและ 3. ADVANCE ยกระดับบริการการเชื่อมต่อสู่อนาคตดิจิทัล
ด้านนายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป กล่าวว่าสิ่งสำคัญมากขณะนี้คือ การทำธุรกิจให้มีความแข็งแรง เพราะธุรกิจเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ คือ การลงทุนใน Cloud Computing ที่มองว่าบริษัทจำเป็นต้องย้ายโครงสร้างบางส่วนของธุรกิจมาอยู่บน Cloud เพราะสามารถช่วยลดต้นทุน และการสูญเสียทรัพยากร
ส่วนนายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK กล่าวว่า กว่า 2ปีที่ผ่านมาท่ามกลางระบาดของโควิด-19 โลกการเงินที่นำเทคโนโลยีมา เพิ่มความสะดวกสบายกับการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะ “โมบาย แบงก์กิ้ง” ที่มีผู้บริโภคเข้าถึงบริการประมาณกว่า 70 ล้านบัญชีเมื่อปลายปีที่แล้วเห็นได้จาก 3 เทรนด์หลักที่ผูกโลกการเงินกับดิจิทัล ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงโลกการเงินกับดิจิทัล 2.ระบบนิเวศน์ที่เชื่อมต่อกับโลกกาเงิน และ 3.การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียมอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำ
ขณะที่นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ต้องมองเห็นสัญญาณทางเทคโนโลยี และต้องรู้ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นสามารถบอกอะไรเราได้บ้าง อนาคตที่จะเกิดขึ้น มีใครทำอะไรไปบ้างแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรใหม่ๆ สามารถแคปเจอร์ภาพเทคโนโลยีที่น่าสนใจ มาสร้างอนาคตของธุรกิจ จนสามารถทำให้ธุรกิจของเขาสามารถต่อยอดและไปได้เร็วกว่าคนอื่น ซึ่งพบว่า มี 6 สัญญาณที่น่าสนใจ คือ 1.การเรียนรู้ข้อมูลในอนาคต 2.ทำอย่างไรให้ข้อมูลการตัดสินใจ ใกล้กับจุดที่ต้องการตัดสินใจมากที่สุด 3.นำเรื่อง Sustainability มาเชื่อมต่อกับองค์กร 4.ปัญหาซัพพลายเชน 5.การนำ Virtual มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และ 6.การนำเรื่องวิทยาศาสตร์ หรือนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยเสริม สร้างให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ