นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมาย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นประธานและร่วมลงนาม การดำเนินงานโครงการศึกษาประสิทธิผลของการติดตั้งอุปกรณ์บำบัดไอเสียรถยนต์สำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์
เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ร่วมกับ กองทัพเรือ โดยกรมการขนส่งทหารเรือ กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จำกัด บริษัท Eminox Ltd บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด
โดยมีนายเดวิด โทมัส อุปทูตรักษาการแทน สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อการทดสอบประสิทธิภาพของ Diesel Particulate Filter (DPF) ในสภาวะของการใช้งานจริงของรถยนต์ดีเซล เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดมาตรการเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหามลพิษจากรถยนต์ดีเซลใช้งานในประเทศไทย ให้สำเร็จต่อไปตามวาระแห่งชาติ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย คพ. และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 และภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มีมาตรการในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคการขนส่งที่สำคัญ ได้แก่
การกำหนดมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่ ระดับยูโร 5 และยูโร 6 ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงกำมะถันต่ำ การส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้าในประเทศ ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะ และศึกษาวิจัยเทคโนโลยีอุปกรณ์บำบัดไอเสีย
เพื่อประเมินประสิทธิภาพและพิจารณาใช้งานกับกลุ่มรถยนต์ดีเซลใช้งานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี ที่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 60 ของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลที่มีการใช้งานในประเทศ เป็นต้น
นายอรรถพล กล่าวว่า การศึกษาอุปกรณ์ Diesel Particulate Filter (DPF) เป็นเทคโนโลยีสำหรับกรองฝุ่นละอองจากไอเสียรถยนต์ที่มีการติดตั้งในรถยนต์ในระดับมาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 มีประสิทธิภาพในการลดฝุ่นละอองทั้งน้ำหนัก (Mass) และจำนวนอนุภาค (Particle Number)
จากไอเสียรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 90 และปัจจุบันมีการใช้งานกับรถยนต์กลุ่มมาตรฐานดังกล่าว รวมถึงรถยนต์ใช้งานที่ใช้เทคโนโลยีเก่ามากกว่า 10 – 15 ปี ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไอเสียรถยนต์ ทั้งกับรถยนต์ใหม่และรถยนต์ใช้งาน
“ภาคเอกชนและผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีช่วยในการลดการเกิดมลพิษจากเครื่องยนต์เก่า ท่อไอเสียที่ปลดปล่อยออกมาต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อลดการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งแหล่งกำเนิดมลพิษหลักมาจากภาคการขนส่งและการจราจร
การกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ใหม่เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ของไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานของประเทศสหรัฐฯและกลุ่มประเทศยุโรป รวมถึงการกำหนดมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่ ระดับยูโร 5 และยูโร 6 จะทำให้ฝุ่น PM2.5 ลดลงไปได้ถึง 75%" นายอรรถพล กล่าว
--