FRUIT ECONOMY ไทยมาแรง จ่อแซงชิลี ผงาดเบอร์1 ส่งออกผลไม้โลก

23 พ.ค. 2565 | 09:48 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2565 | 17:25 น.

FRUIT ECONOMY หรือเศรษฐกิจผลไม้ การส่งออกผลไม้ของไทย ยังคงเดินหน้าสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะ “ทุเรียน”ที่เป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนตัวใหม่ที่มาแรงแซงโค้งพืชเศรษฐกิจหลักทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง

 

นายอลงกรณ์  พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้า ในคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด) กล่าวในการบรรยายพิเศษ “วิกฤต-โอกาสผลไม้ไทยสู่แดนมังกร” ในงานสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ THE BIG ISSUE 2022 : ผลไม้ไทย ผลไม้โลก “ทุเรียนแสนล้าน ฝ่าด่าน ZERO COVID” จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ใจความสำคัญระบุว่า ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยบนฐานของ Fruit  Economy และ Durian Economy  ยังมีอีกมากทั้งในวันนี้และวันหน้า

 

สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก และการส่งออกผลไม้เป็นส่วนหนึ่งของการนำรายได้ให้ประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาไทยทำรายได้จากการส่งออกผลไม้ทุกประเภททั้งผลไม้สด ผลไม้แห้ง ผลไม้แปรรูป เป็นเม็ดเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาท เฉพาะผลไม้เศรษฐกิจที่เป็นผลไม้สดไทยสามารถส่งออกได้ ถึง 1.9 แสนล้านบาท และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ราชาแห่งผลไม้คือ “ทุเรียน” ส่งออกได้เกินแสนล้านบาท

 

FRUIT ECONOMY  ไทยมาแรง จ่อแซงชิลี ผงาดเบอร์1 ส่งออกผลไม้โลก

 

เฉพาะในตลาดจีน ทุเรียนสดส่งออกได้ 8 แสนกว่าตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.09 แสนล้านบาท เฉพาะการส่งออกทุเรียนอย่างเดียวมากกว่าการส่งออกข้าว ที่เป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักมากว่า 30 ปี วันนี้ทุเรียนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักตัวใหม่ที่นำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งหากรวมทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนแปรรูป ที่มีมูลค่าอีก 7 หมื่นล้านบาท ตัวเลขกลม ๆ การส่งออกทุเรียนไปจีนในปีที่ผ่านมา 1.2 แสนล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงถึง 60%

 

"ทั้งที่เราต้องเผชิญกับปัญการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และจีนก็มีนโยบาย Zero Covid  เวลาที่เกิดปัญหาการปนเปื้อนโควิด หรือการติดเชื้อโควิดในเมืองท่าหน้าด่านทั้งหลาย ก็จะมีการปิดด่าน ทำให้เกิดปัญหาการติดขัดที่หน้าด่าน เกิดปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่จะหมุนเวียนกลับมาให้ล้ง หรือผู้ส่งออกรับซื้อผลไม้ไม่เพียงพอ รวมทั้งทุเรียน มังคุดของเราก็เกิดปัญหาลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตลอด แต่ว่าเราไม่ได้ส่งออกผ่านเฉพาะด่านทางบกเท่านั้น เราส่งออกทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ”

 

FRUIT ECONOMY  ไทยมาแรง จ่อแซงชิลี ผงาดเบอร์1 ส่งออกผลไม้โลก

 

 

 

สำหรับในปีนี้ นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำหนดเป้าหมายทางการตลาดไว้ ผลไม้ไทยจะต้องส่งออกให้ได้ไม่น้อยกว่า 2.8 แสนล้านบาท จากปี 2564 ส่งออกได้ 2.5 แสนล้านบาท ในส่วนของ ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้แห่งชาติ หรือฟรุ้ทบอร์ด ยังเดินหน้ายุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์คู่ (Dual) ระหว่างกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้เดินหน้ามาเป็นเวลา 2 ปีเศษ

 

เฉลิมชัย  ศรีอ่อน

 

อย่างไรก็ดีในปีที่ผ่านมา แม้จะมีปัญหานานัปการ แต่เราก็สามารถฝ่าฟัน และสร้างรายได้จากการส่งออกผลไม้ทุกประเภทเข้าประเทศได้กว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะตลาดจีนเท่านั้น ยังมีตลาดในยุโรป อาเซียน เอเชีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และในภูมิภาคอื่น ๆ

 

สำหรับในปีนี้ การส่งออกผลไม้ไยต้องเจอภาวะเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยหนึ่งภาวะเสี่ยงที่คาดไม่ถึง คือ 1.สงครามรัสเซีย-ยูเครน 2.การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในจีน โดยจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ฐานการผลิตใหญ่ ๆ ศูนย์การค้าใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองเซินเจิ้น เมืองเซี่ยงไฮ้ ล่าสุดคือ ปักกิ่ง และยังมีเขตย่อยอีกกว่า 500 เขตที่มีการปิดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เรียกว่า “ล็อกดาวน์” มีการให้ work from home ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งแน่นอนที่สุด ไม่ใช่กระทบแค่เรื่องการขนส่งที่ด่าน แต่มีผลไปถึงเรื่องระบบการค้า ทั้งค้าปลีกและค้าส่งในจีน

 

“ในส่วนนี้เองที่ทำให้เราต้องออกมาตรการล่วงหน้า 18 มาตรการโดยฟรุ้ทบอร์ด โดยดำเนินการล่วงหน้าก่อนฤดูกาลที่ผลผลิตจะออกมาไม่น้อยกว่า 3 เดือน มีการอนุมัติงบประมาณ มีการสร้างกลไกการสนับสนุนการทำงาน รวมถึงมี 5 มาตรการ 22 โครงการ กรณีเกิดวิกฤติเฉพาะหน้าขึ้น นี่คือการเตรียมการมาตรการต่าง ๆในการรองรับการผลิตผลปี 2565 เพราะเหตุว่าเราได้เผชิญกับภาวะภัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น”

 

นอกจากนี้ยังได้กำหนดเป้าหมายในเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้สามารถเดินหน้าสู่เป้าหมาย สร้างรายได้ให้ประเทศ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยเน้นให้มีการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 40% 2.คือให้บริหารโลจิสติกส์ในการที่จะลดความเสี่ยง และเพิ่มช่องทางการขนส่งใหม่ ๆ จากในปี 2564 มีการขนส่งผลไม้ทางเรือ 51% ทางรถยนต์ 48% และการขนส่งทางอากาศ หรือทางเครื่องบิน 0.54%

 

แต่มาปีนี้สามารถเพิ่มการขนส่งทางรถไฟ หรือทางรางได้เพิ่มขึ้น นั่นคือทางรถไฟสายจีน-ลาว และเพื่อลดความเสี่ยงจากด่านปิดกรณีเกิดการปนเปื้อนโควิด เช่นช่วงปลายปีที่แล้ว ดังนั้นจึงกำหนดการเพิ่มการขนส่งทางเรือเป็น 55% ลดการขนส่งทางรถยนต์เหลือ 40% และขนส่งทางราง และทางเครื่องบินเพิ่มเป็น 5%

           

"พร้อมกันนี้ได้วางยุทธศาสตร์การขนส่งผ่านรถไฟสายจีน-ลาว ที่จะไม่ได้จบแค่ที่ประเทศจีนแต่จะข้ามไปยุโรป ข้ามไปเอเชียกลาง ข้ามไปตะวันออกกลาง ข้ามไปถึงเกาะอังกฤษ เพราะฉะนั้นจึงได้ทำงานล่วงหน้ากับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ในที่สุดเราสามารถทำความตกลงได้กับประเทศคาซัคสถาน และสามารถตกลงได้กับดูไบ ซึ่งเขาได้สิทธิ์บริหารท่าเรือบก ซึ่งอยู่พรมแดนระหว่างคาซัคสถานกับจีน"

 

เพราะฉะนั้นเส้นทางรถไฟสายอีต้าอีลู่ (เส้นทางสายไหม) โดยรถไฟสายนี้จะวิ่งจากหนองคาย-ลาว-ไปจีน ไปฉงชิ่ง ผ่านกานซู ของจีน แล้วออกไปที่คอร์กอส (เขตเศรษฐกิจพิเศษคอร์กอส) ของคาซัคสถาน แล้วเข้าไปทางโปแลนด์ รัสเซีย หรือว่าจะไปเยอรมัน จะไปอังกฤษ หรือจะลงใต้ไปตุรกีได้หมด เราทำความตกลงตรงนี้ไว้เรียบร้อย เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ก็ให้เห็นว่า ขณะนี้กำลังเจรจาระดับที่ 2 ก็คือ การขนส่งข้ามแดนไปยุโรป โดยผ่านเอเชียกลาง รวมทั้งตะวันออกกลาง

 

FRUIT ECONOMY  ไทยมาแรง จ่อแซงชิลี ผงาดเบอร์1 ส่งออกผลไม้โลก

 

สอง ก็คือว่า การที่จะเปิดเส้นทางขนส่งใหม่ในความตกลงการนำเข้าส่งออกผลไม้ระหว่างไทย-จีน มีพิธีสารพิเศษ เพราะฉะนั้นท่าน รมว.เกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน จึงได้เจรจากับทางกระทรวงศุลกากรของจีน(GACC) กระทั่งเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว สามารถลงนามพิธีสารเปิดด่านจากไทยไปจีนโดยผ่านประเทศที่ 3 ได้ถึง 10 ด่าน และในส่วนของไทยเพิ่มได้อีก 6 ด่าน ทำให้ไทยมีประตูการค้าเพิ่มขึ้น และหนึ่งในด่านสำคัญคือ ด่านรถไฟโมฮ่าน ที่จะเป็นเส้นทางนำโอกาสแห่งอนาคตในการเชื่อมผลไม้ไทยไปสู่การเป็นผลไม้โลก

 

“ผมเรียนว่า โอกาสของการที่ประเทศไทยจะสามารถครองความเป็นผลไม้โลกได้คือปี 2565 โดยปีนี้จะเป็นปีที่เราจะบรรลุความสำเร็จ หลังจากที่เราใช้ความพยายาม 3 ปีเต็ม ในการทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่ม ปริมาณในการส่งออก และการครองตลาดในจีน เชื่อหรือไม่ว่าในโลกนี้ 200 กว่าประเทศที่เราส่งออกไป มีกลุ่มสินค้าเดียวที่เราเอาชนะจีนได้อย่างเด็ดขาด และจีนเต็มใจที่ให้ชนะคือผลไม้ไทย และทุเรียนซึ่งเป็น "ราชาแห่งผลไม้" คือดวงใจของคนจีน ต่อไปก็คือมังคุด ราชินีผลไม้ จากปีที่ผ่านมาผลไม้ไทยครองมาร์เก็ตแชร์ในจีนได้กว่า 40% นั่นคือศักยภาพของผลไม้ไทย อันดับ 2 คือชิลี ที่เป็นคู่แข่งเราที่ช่วงชิงกันเป็นเจ้าแห่งผลไม้เมืองร้อน มีมาร์เก็ตแชร์ในจีน 15% ซึ่งยังห่างกันมาก และอันดับ 3 คือเวียดนาม มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดจีน 6%”

 

นี่คือสิ่งที่เล่าให้ฟังพอสังเขป จะได้เห็นและร่วมฝันไปสู่อนาคตที่เป็นจริงได้ เพราะเราทำให้ฝันเป็นจริงมาแล้วในปี 2564 ซึ่งปี 2565 เป็นปีที่ท้าทาย จากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีผลทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้น ค่าระวางเครื่องบิน ค่าระวางทางเรือ ทางรถแพงขึ้นหมด ขณะเดียวกันต้นน้ำ เช่น เรื่องปุ๋ย เรื่องของพลังงานต่าง ๆ ที่มาใช้ในการผลิตก็สูงขึ้น

 

FRUIT ECONOMY  ไทยมาแรง จ่อแซงชิลี ผงาดเบอร์1 ส่งออกผลไม้โลก

 

อย่างไรก็ดีเชื่อว่าด้วยความสามารถของประเทศไทย ความสามารถของเกษตรกรชาวสวนในทุกภาคของประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการที่มีมาตรฐาน และความสามารถในการทำตลาด และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับผู้บริโภคทั่วโลก จะสร้างฝันให้เป็นจริง โดยเชื่อว่าปีนี้ไทยจะก้าวสู่การเป็นแชมป์โลก ผู้ส่งออกผลไม้อันดับ 1 ของโลกแซงชิลี และจะสามารถรักษาตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือประเทศจีน ด้วยการรักษามาร์เก็ตแชร์ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นเบอร์ 1 ยืนแท่นแชมป์ในจีนตลอดไป