“นมโรงเรียน” พื้นที่ 2 จัดโควตา ล่ม! วันที่ 2

26 พ.ค. 2565 | 06:52 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 11:48 น.

พื้นที่ 2 “นมโรงเรียน” ฉาว จัดสรรพื้นที่จำหน่าย ล่ม เป็นวันที่ 2 วัน ช่วงบ่ายนี้ วงการแฉ จะใช้อำนาจของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่การจำหน่าย เป็นผู้ชี้ขาด จัดสรรสิทธิตามมาตรา 13 ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ โรงงาน-สหกรณ์ ผวา ยกแผง ไม่รู้ชะตา ใครจะได้เท่าไร

แหล่งข่าวในกลุ่มพื้นที่ 2 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในกลุ่มพื้นที่ 2 (เขตปศุสัตว์ที่ 2 และ 3) ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทรบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร ชัยภูมิ และอำนาจเจริญ ได้มีการจัดสรรพื้นที่จำหน่าย ตั้งแต่เมื่อวาน (วันที่ 25 พ.ค.65) แต่มีปัญหาจัดสรรไม่ได้ ก็ล่มไป พอเช้าวันนี้ได้มีการจัดสรรสิทธิ์พื้นที่จำหน่ายอีกครั้ง ปรากฏว่าล่มไปเมื่อประมาณ 10 โมงเศษ จึงทำให้ทางคณะอนุกรรมการ จำเป็นที่จะต้องใช้มาตราที่ 13 ในการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียน ในพื้นที่กลุ่ม2 ถือว่าเป็นกลุ่มแรกในปีนี้

 

ทั้งนี้ในข้อหลักเกณฑ์มาตรา 13 ในโครงการนมโรงเรียน  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการจัดสรรพื้นที่การจำหน่าย ดังนี้ 

 

1.ในลำดับแรกของการจัดสรรพื้นที่การจำหน่าย ให้พิจารณาประวัติการจัดส่งนมการเข้าทำสัญญาซื้อขายของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เป็นไปตามประกาศ ในปีการศึกษาที่ผ่านมาเป็นลำดับแรก โดยยืดหลักโลจิสติกส์ให้ครอบคลุมหน่วยจัดซื้อ หรือตำบล หรืออำเภอ และในกรณีที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมมีประวัติการจัดส่งนมที่ไม่เป็นปตามประกาศ ในปีการศึกษาที่ผ่านมา

 

การจัดสรรพื้นที่การจำหน่ายคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลุ่มพื้นที่ มีอำนาจในการจัดสรรพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมรายอื่นได้ โดยยึดหลักโลจิสติกส์ให้ครอบคลุมหน่วยจัดซื้อ หรือตำบล หรืออำเภอ และจังหวัดใดมีผู้ประกอบการมีโรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นมากกว่า 1  ราย ให้จัดสรรพื้นโดยนำสิทธิที่ต้องการในพื้นที่จังหวัดมาหารเฉลี่ยกันตามจำนวนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ในส่วนของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ยังมีสิทธิคงเหลือหลังจัดสรรพื้นที่จังหวัดนั้นแล้ว ให้พิจารณาจัดสรพื้นที่การจำหน่ายในจังหวัดใกล้เคียงเป็นลำดับถัดไป

 

 

การจัดสรรพื้นที่การจำหน่ายแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ให้กับผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์นมแต่ละรายจะต้องไม่ขัดกับหลักการโลจิสติกส์ ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมรายอื่น ๆซึ่งผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมทุกรายสามารถดำเนินการได้

 

13.2 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลุ่มพื้นที่ดำเนินการจัดประชุมหารือรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ได้รับการจัดสรรสิทธิทุกรายในข้อ 12 โดยให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมนำเสนอความคิดเห็นการจัดสรรพื้นที่การจำหน่ายเป็นลายลักษณ์อักษรนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลุ่มพื้นที่เพื่อพิจารณาจัดสรรพื้นที่การจำหน่าย หากผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมไม่สามารถตกลงในรายละเอียดการจัดสรรพื้นที่ใด้ให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลุ่มพื้นที่มีอำนาจชี้ขาด

 

 

แหล่งข่าวผู้ประกอบการโรงนม กล่าวว่า สาเหตุที่จัดล่ม มา  2 วัน สาเหตุมาจากคณะกรรมการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ในวันแรกที่ล่ม มีผู้ประกอบการบางรายเทน้ำนมดิบเข้ามาเพิ่มพื้นที่ 75 ตัน/วัน แล้วดึงดราม่า  แล้วขอออกจากห้องประชุม (วอร์คเอาท์) ทำให้การประชุมจัดสรรโควตาล่ม พอวันที่ 2 ก็มาเกิดเหตุ เนื่องจากพื้นที่เกิดปัญหามีปัญหาโรงเรียนเอกชน คืนงบประมาณ ทำให้เด็กไม่ได้ดื่มนม ทางคณะฯ จึงได้ให้เอกชนรายอื่นเข้าไปขายแทน ก็มีปัญหาเนื่องจากเอกชนที่มีปัญหาก็ชี้แจงว่าไม่ได้เป็นความผิดของผู้ประกอบการ ก็ควรจะจบหรือไม่ เพราะฝ่ายผู้ประกอบการก็เสียหาย เสียสิทธิ  จึงทำให้ตกลงไม่ได้ ล่มไปในช่วงเวลาประมาณ 10 โมงเศษ 

 

ล่าสุดนางทัชยา รักษาสุข กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ธวัชฟาร์ม จำกัด ระยอง กล่าวว่า  การจัดพื้นที่นมโรงเรียน วันนี้ ทาง บริษัท โดนรังแก ไม่มีหนังสือว่ามีความผิดเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จัดโยกไปจังหวัดอื่น แล้วบริษัทที่เข้ามาแทนที่ บริษัท แมรี่แอนแดรี่ โปรดักส์ จำกัด เป็นผู้ได้ผลประโยชน์ในครั้งนี้ ไม่ใช่เขียนแค่ประวัติ อย่างนี้ถือว่ามาละเมิดสิทธิ วันนี้ทุกคนกลับใช้กระบวนกลุ่มว่า ผิด แล้วต้องดันยอดนี้ออกไป แต่ถ้าโรงเรียนเอกชนไม่ซื้อ จะให้สิทธิ์ อ.ส.ค.เข้ามาแทนที่ ก็ยินดี แต่จะมายกสิทธิ์ให้ แมรี่แอนแดรี่ฯ ไม่ยอม 

 

ส่วนเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรนั้น ผู้ประกอบการ-สหกรณ์ ก็ผวา  ต้องติดตามกันดูในช่วงภาคบ่าย ซึ่งทางคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่การจำหน่าย พื้นที่ 2 ยืนยันมาแล้วว่า จะต้องจัดสรรพื้นที่จำหน่ายให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้