นายสุมาตร อินทรมณี ตัวแทนเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” หลังแถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับการที่ ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ชุดมาดูแลเรื่องน้ำมันปาล์ม กนป.เพราะเป็นการล็อคสเปค อธิบดี ร่วมกับ ตัวแทนเกษตรกร เสนอให้ตั้งกรรมการชุดนี้แล้วเสนอตัวเองขึ้นมา กรรมการขึ้นดูแล้วไม่มีความชอบธรรม แล้วการที่ สมาคมสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ไม่มีกฎหมายรองรับ เช่นเดียวกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งมีวาระแค่ 4 ปี ปัจจุบันหมดวาระไปตั้งนานแล้วจึงมีความคิดเห็นร่วมกันใน 5 จังหวัด ชุมพร กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพังงา ค้าน “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม”
“การตั้งคณะอนุฯ ชุดนี้จะมานั่งกินเอง ชงกันเอง ไม่เหมาะสม ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ บริหารสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ สูง 3 แสนตัน แล้วก็มาผลักดันเรื่องส่งออก สุดท้ายโรงงานหยุดรับซื้อ เพื่อหาน้ำมันราคาถูกส่งขายออก ซึ่งเป็นสภาพที่ชาวสวนมีชะตากรรมมาแบบนี้ปีหนึ่ง ไม่รู้กี่ครั้ง พอเห็นคณะกรรมการชุดนี้คลอดออกมาเสนอแบบลับๆ เห็นว่าผิดหลักธรรมมาภิบาล แล้วถ้ามองให้ดีผิดระเบียบราชการด้วย"
นายสุมาตร กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้มีการทำแบบเปิดเผย เพิ่มในสัดส่วนเกษตรกรเข้าไปจังหวัดละ 1 คน ในพื้นที่ปลูกปาล์ม เช่น เกษตรแปลงใหญ่ /สหกรณ์การเกษตร เป็นต้น ดังนั้นการคัดสรรควรให้มีองค์กรอื่นร่วมวงด้วย ย้ำประสงค์จริงอยากให้มีการคัดสรรให้เป็นธรรม ไม่ใช่ทำแบบลับๆ ล่อ หรือ ล็อคเสปค แค่ไม่กี่องค์กร ทำให้ไม่หลากหลายในสัดส่วนตัวแทนเกษตรกร
อนึ่ง เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องจาก 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ (กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) นายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม นายกสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซล ผู้แทนคลังรับฝาก และภาคเกษตรกร (นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ จ.กระบี่ และนายมนัส พุทธรัตน์ จ.ปทุมธานี) ได้รับทราบถึงสถานการณ์ด้านการผลิต การค้า และการส่งออก สรุปดังนี้
1 ปริมาณผลปาล์มที่ออกสู่ตลาดในปีนี้ใกล้เคียงกับตัวเลขที่ สศก. คาดการณ์ที่ 17.59 ล้านตัน และจะเฉลี่ยออกในแต่ละเดือนใกล้เคียงกัน ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดภาวะกระจุกตัว และเป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมที่จะมีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดสม่ำเสมอ
2. ควรจะมีการบริหารจัดการการส่งออกเพื่อให้มีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ ดังนี้
(1) กำหนดให้ขออนุญาตส่งออกน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์)ตามอำนาจแห่ง พรบ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522
(2) แต่งตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนจากส่วนราชการ เกษตรกรและเอกชน ทำหน้าที่พิจารณาปริมาณคงเหลือที่เหมาะสมในประเทศ และปริมาณที่อนุญาตให้ส่งออกในแต่ละเดือน โดยพิจารณาจากสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด ราคา รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์ม การค้า และการบริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ในระยะแรกเห็นควรให้คงระดับสต็อกน้ำมันปาล์มไม่น้อยกว่า 200,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ และพิจารณาปรับให้มีปริมาณสต็อกคงเหลือ ณ สิ้นปีสอดคล้องกับมติกนป. (12 เม.ย. 55) ที่กำหนดไว้ 1.5 เท่าของความต้องการใช้หรือ 300,000 ตัน
(3) ให้ตรวจวัดระดับสต็อกน้ำมันปาล์มเป็นรายสัปดาห์และรายงานต่อคณะทำงาน เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตการส่งออก โดยที่ประชุม มอบหมายให้กรมการค้าภายในจัดทำรายละเอียดของแนวทาง นำเสนอคณะอนุกรรมการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ก่อนนำเสนอ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป