ผ่างบรายจ่ายปี 66 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท

30 พ.ค. 2565 | 09:50 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 16:57 น.

ผ่างบรายจ่ายปี 66 วงเงิน 3.18 ล้านล้าน รัฐบาล ดัน ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสและความเสมอภาค จัดสรรงบรวมกว่า 7.59 แสนล้าน ขณะที่งบแผนบูรณาการงานพัฒนาคมนาคม-โลจิสติกส์ ทะลุ 1.31 แสนล้าน

ในวันพรุ่งนี้จับตาการประชุมสภาฯ เป็นพิเศษ วันแรกเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 85,000 ล้านบาท จากปีงบประมาณ พ.ศ 2565 ที่กำหนดไว้จำนวน 3,100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.79 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

 

ฐานเศรษฐกิจ พาไปดูการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2566 เพื่อให้เห็นภาพว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องใดและกำลังจะเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้อย่างไรบ้าง

 

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85,000 ล้านบาท จากปีงบประมาณ พ.ศ 2565 ที่กำหนดไว้จำนวน 3,100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 ประกอบด้วย

 

1. รายจ่ายประจำ จำนวน 2,396,942.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 23,932.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.26 ของวงเงินงบประมาณ สัดส่วนลดลดเมื่อเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 76.55 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

 

2. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ

 

3. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ

 

4. รายจ่ายลงทุน จำนวน 695,077.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.82 ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 83,144.0 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.59

 

5. รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.14 ของวงเงินงบประมาณ

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายปี 2566 นี้ สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มงบประมาณ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

  • งบประมาณรายจ่ายงบกลาง 590,470.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.54 ของวงเงินงบประมาณ
  • งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,090,329.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.23 ของวงเงินงบประมาณ
  • งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 218,477.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.86 ของวงเงินงบประมาณ
  • งบประมาณรายจ่ายบุคลากร จำนวน 772,119.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.24 ของวงเงินงบประมาณ
  • งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 206,985.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.50 ของวงเงินงบประมาณ
  • งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 306,618.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.63 ของวงเงินงบประมาณ

ในการพิจารณางบประมาณของรัฐสภาทุกครั้ง งบประมาณรายจ่ายงบกลางมักถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางมักถูกจับตามองกันทุกปี เนื่องจากสามารถเบิกจ่ายได้ง่าย และตรวจสอบยากนั้น สำหรับปี 2566 รัฐบาลจัดสรรงบกลางไว้จำนวน 590,470.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.54 ของวงเงินงบประมาณ พบว่า อยู่ในส่วนของ เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ นั้นตั้งไว้มากที่สุด จำนวน 322,790 ล้านบาท ตามด้วยเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 92,400 ล้านบาท

 

ถัดมา คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 76,000 ล้านบาท, เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ จำนวน 75,980 ล้านบาท และเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ จำนวน 10,000 ล้านบาท และ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 4,200 ล้านบาท ตามลำดับ

 

ศึกษาธิการ ได้รับจัดสรรงบปี 66 สูงสุด 3.25 แสนล้าน

สำหรับงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,090,329.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.23 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งประกอบด้วย งบประมาณจากหลายกลุ่มงบประมาณรวมกัน ทั้งงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ งบประมาณรายจ่ายบุคลากร งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน และงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ

 

สูงสุด 5 อันดับแรก คือ กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 325,900.2 ล้านบาท คิดเป็น 10.2 % ของวงเงินงบประมาณ ตามด้วยกระทรวงมหาดไทย จำนวน 325,578.9 ล้านบาท คิดเป็น 10.2 % ของวงเงินงบประมาณ กระทรวงการคลัง จำนวน 285,230.4 ล้านบาท คิดเป็น 9.0 % ของวงเงินงบประมาณ, ทุนหมุนเวียน จำนวน 206,985.6 ล้านบาท คิดเป็น 6.5 % ของวงเงินงบประมาณ และกระทรวงกลาโหม จำนวน 197,292.7 ล้านบาท คิดเป็น 6.2 % ของวงเงินงบประมาณ

 

อัดงบยุทธศาสตร์สร้างโอกาสความเสมอภาคกว่า 7.59 แสนล้าน

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นี้ สำนักงบประมาณอธิบายว่า จัดทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580), (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570), (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570)

 

แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้บรรลุ 13 หมุดหมายการพัฒนาตาม (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น

 

ในปีนี้รัฐบาลให้น้ำหนักในเรื่องของเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์อย่างมาก โดยยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยจัดสรรงบประมาณไว้มากที่สุด จำนวน 759,861.3 ล้านบาท คิดเป็น 23.9 % ของวงเงินงบประมาณ

 

ตามด้วย ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 658,012.7 ล้านบาท คิดเป็น 20.7 % ของวงเงินงบประมาณ ขณะที่ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มาเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 549,514.0 ล้านบาท คิดเป็น 17.3 % ของวงเงินงบประมาณ สำหรับปีนี้รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันมาเป็นลำดับที่ 5 จำนวน 396,125.5 ล้านบาท คิดเป็น 12.4 % ของวงเงินงบประมาณ

 

งบแผนบูรณาการงานพัฒนาคมนาคม-โลจิสติกส์ พุ่ง 1.31 แสนล้าน  

สำหรับแผนงานบูรณาการหรือแผนงานที่ต้องทำร่วมกันของหลายหน่วยงานนั้นในปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11 แผนงานได้รับการจัดสรรไว้ จำนวน 218,477.7 ล้านบาท โดย 5 ลำดับแรกที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดที่สุด มีดังนี้

1.แผนการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 131,372.8 ล้านบาท

2. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 54,121.9 ล้านบาท

3. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 11,086.9 ล้านบาท

4. ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 6,251.2 ล้านบาท

5. ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด จำนวน 4,188.2 ล้านบาท

 

จัดสรรให้ อปท. จำนวน 3.07 แสนล้าน

สำหรับปีงบประมาณ 2566 นี้ รัฐบาลจัดสรรรายได้เป็นเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. จำนวน 307,111.6 ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 29,023.5 ล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับเงินอุดหนุนที่รัฐจัดสรรให้แก่ อปท. ปีนี้คิดเป็น 29.60 % ของรายได้สุทธิของรัฐบาล (ไม่รวมเงินกู้) ซึ่งมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 737,083.6 ล้านบาท

 

สรุปภาพรวม งบกลาง มีสัดส่วนงบประมาณมากที่สุด คิดเป็น 18.5 % ของวงเงินงบประมาณ ขณะที่หากดูแยกรายหน่วยงานแล้ว พบว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด คือ 325,900.2 ล้านบาท คิดเป็น 10.2 % ของวงเงินงบประมาณ รองลงมา คือ กระทรวงมหาดไทย 325,578.9 ล้านบาท คิดเป็น 10.2 % ของวงเงินงบประมาณ

 

และหากดูตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลแล้ว พบว่า ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด จำนวน 759,861.3 ล้านบาท รองลงมา คือ ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 658,012.7 ล้านบาท

 

ขณะที่หากดูเฉพาะแผนงานบูรณาการที่หลายหน่วยงานทำร่วมกัน พบว่า แผนพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด จำนวน 131,372.8 ล้านบาท รองลงมา คือ แผนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 11,086.9 ล้านบาท และแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 54,121.9 ล้านบาท ตามลำดับ

 

ที่ต้องจับตามอง คือ ในปีนี้แผนงานบูรณาการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้รับการจัดสรรจำนวน 498 ล้านบาท ส่วนแผนการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย จำนวน 448.7 ล้านบาท

 

ผ่างบรายจ่ายปี 66 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท