GIT ผุด GIT Standard ยกระดับมาตรฐานอุตฯอัญมณีและเครื่องประดับไทยสู่เวทีโลก

30 พ.ค. 2565 | 15:27 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 22:27 น.

GIT ผุด GIT Standard ยกระดับมาตรฐานอุตฯอัญมณีและเครื่องประดับไทยสู่เวทีโลก มุ่งสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นเลิศ

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า สถาบันได้ดำเนินการออกแบบและใช้โลโก้ใหม่ที่สะท้อนภาพลักษณ์ที่ทันสมัย จดจำง่ายและเป็นสากล โดยการออกแบบโลโก้สื่อความหมายถึงภารกิจหลัก 6 ประการ ได้แก่ 

 

  • การเป็นผู้วิเคราะห์ ตรวจสอบ และกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 

 

  • การเป็นผู้นำด้านมาตรฐานการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับ 

 

  • การเป็นผู้วิจัย และ พัฒนาระบบฐานข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย 

 

  • การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในทุกภาคส่วน 
  • การเป็นสถาบันหลักของชาติ และการมีห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล 

 

  • การเป็นศูนย์กลางในการร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ GITมุ่งมั่นสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นเลิศให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย (Creating Trust and  Excellence)โดยสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด (Diamond Shape) ที่สะท้อนถึงการเจียระไน ความเฉียบคม  และความเป็นไทย จัดเรียงในรูปแบบแนวคลื่นที่สื่อให้เห็นถึงความพร้อมที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างไม่หยุดยั้ง

 

GIT ผุด  GIT Standard ยกระดับมาตรฐานอุตฯอัญมณีและเครื่องประดับไทยสู่เวทีโลก

 

นอกจากนี้ สถาบันยังได้ดำเนินการสร้าง GIT Standard มาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลโดยใช้ GIT Standard ประกอบด้วย 

 

  • มาตรฐานด้านอัญมณีและเครื่องประดับ 
  • มาตรฐานด้านโลหะมีค่า 
  • มาตรฐานด้านบุคลากรของห้องปฏิบัติการ 

อย่างไรก็ดี  สถาบันยังผลักดันให้มีการนำมาตรฐานไปใช้กับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับห้องปฏิบัติการในทุกด้าน 

 

นายสุเมธ กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวถูกจัดขึ้นภายใต้กิจกรรม  GIT Open House ซึ่งมีการแนะนำนวัตกรรมในงานบริการต่างๆ ของสถาบัน ได้แก่ การพัฒนามาตรฐานสีสำหรับทับทิม ไพลิน และพัดพารัชชา ซึ่งเป็นอัญมณีที่สำคัญและได้รับความนิยมในตลาด

 

การพัฒนา AI เพื่อระบุแหล่งกำเนิด (Origin Determination) สำหรับพลอยคอรันดัมและอัญมณีอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อสามารถให้บริการตรวจสอบที่รวดเร็วและแม่นยำ การแนะนำระบบฐานข้อมูลวิชาการและศูนย์เรียนรู้ด้วยตนเองที่เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร มีทรัพยากรสารสนเทศในรูปแบบสิ่งพิมพ์ และสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ที่พร้อมที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย 

 

ศูนย์ฝึกอบรมที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมเนื้อหาครอบคลุมทุกมิติในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งรูปแบบ Online และ Onsite นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านต่างๆ อาทิ นักอัญมณีศาสตร์ นักวิชาการโลหะมีค่า นักออกแบบ ได้ร่วมพูดคุยให้คำแนะนำกับผู้ที่เข้าร่วมงาน

 

"กิจกรรมดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการต่อยอดธุรกิจและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย  โดย GIT มุ่งสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นเลิศให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ในฐานะศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลกอย่างยั่งยืนต่อไป"