การดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวาระ 4 ปีนับจากนี้ มากับความคาดหวังสูง และภาระอันหนักอึ้ง ที่มีทั้งกองเชียร์ และผู้คอยตรวจสอบว่า นโยบาย 9 ดี รวม 214 แผนงาน ที่นายชัชชาติประกาศไว้ช่วงหาเสียง จะสามารถทำได้ครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน
ในมุมมองความคาดหวัง เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ภาคธุรกิจเอกชนอยากให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่เร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และจะมีข้อเสนอแนะในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ชาว กทม.อย่างไรบ้างนั้น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังรายละเอียด
หนุนตั้ง กรอ.เอกชน-กทม.
นายสนั่น กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมาก ขณะเดียวกันก็มีปัญหาที่ซับซ้อนสะสมมาเป็นเวลานาน ดังนั้นผู้ว่า กทม. จึงต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและลึกซึ้ง เข้าใจในรายละเอียดของแต่ละปัญหา และสามารถจะร่วมงานกับหน่วยต่าง ๆ กับภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ในการขับเคลื่อน
ทั้งนี้นโยบาย 9 ดี (กราฟิกประกอบ) ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นความตั้งใจจริงในการอาสาเข้ามาทำงานของผู้ว่าฯคนใหม่ หลายนโยบายคิดขึ้นเพื่อสวัสดิการและการกินดีอยู่ดีของคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ขณะที่อีกหลายนโยบายเป็นปัญหาโครงสร้างใหญ่ และเรื้อรังมานาน แต่เป็นสิ่งที่กระทบกับคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้ต้องจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการให้ดี
“เป็นสิ่งที่ดีที่ผู้ว่าฯ เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับข้าราชการ กทม. ก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลเป็นรูปธรรมได้เร็วขึ้น หอการค้าไทยยังเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กรุงเทพมหานคร ซึ่งน่าจะมีรูปแบบคล้าย ๆ กับ กรอ.พาณิชย์ (คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์) แต่จะมุ่งส่งเสริมด้านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เป็นหลัก เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานร่วมกันอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมาหอการค้าไทยทำงานร่วมกับ กทม.หลายเรื่องดังนั้น จึงมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับ กทม.อย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อสร้างให้เกิดความเชื่อมั่น ส่งเสริมให้ กทม.เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีเสน่ห์ และอยู่ในความทรงจำที่ดีของประชาชนคนไทย และต่างประเทศที่จะมาเยือน”
เร่งแก้ปัญหารายได้-ค่าครองชีพ
สำหรับเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่อยากให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เร่งดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม นายสนั่นระบุว่า เรื่องปัญหารายได้และค่าครองชีพของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย คือเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่ กทม. จะสามารถดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว คือการจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสม และเป็นธรรมในการค้าขาย สร้างโอกาสในการหารายได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการสร้างความน่าสนใจ ให้เกิดแรงดึงดูด และบรรยากาศที่ดีในการมาจับจ่ายใช้สอย ทั้งในกลุ่มประชาชนและนักท่องเที่ยว
เรื่องการรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น อยากให้ กทม. ร่วมกันทำต่อ เพราะสิ่งนี้เป็นเป็นเกราะป้องกันสุขภาพของประชาชน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่น รองรับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึง การดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัย และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งจะนำมาสู่ภาพลักษณ์ที่ดีในระยะยาวต่อไป
แนะกระตุ้นเศรษฐกิจ-รายได้
ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการด้านต่าง ๆ อย่างมีระบบ มีความชัดเจน และเป็นธรรม จะเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มที่มีรายได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่ หรือคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ
นอกจากนี้คือการส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็น Smart City เป็นเมืองแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจ จึงต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายเรื่อง เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน การลงทุน เน้นการนำเทคโนโลยี และระบบฐานข้อมูลมาใช้เป็นจุดเชื่อมโยงในทุกมิติ
ดังนั้น ต้องส่งเสริมและพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการและแรงงานฝีมือใน กทม. ให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการยกระดับคุณภาพ สินค้า และบริการต่าง ๆ ซึ่งนโยบายในการเปิดพื้นที่การทำงานร่วมกัน กระจายไปในแหล่งชุมชนต่าง ๆ จะช่วยสร้างระบบนิเวศที่ดี เพื่อการเติบโตของกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่อยากฝากถึงผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่