นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (7 มิ.ย.65) ว่า สืบเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมประกาศปลดล็อคทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชา กัญชง กระท่อม
เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้อย่างถูกกฎหมาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืช จากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2565 เพื่อสนับสนุนการปลดล็อคและอำนวยความสะดวกการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง และกระท่อม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้พืชทั้งสามชนิดเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ให้ประชาชนทุกระดับ
ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร จะมีการออกประกาศกรมวิชาการเกษตรเพื่อรองรับการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของพืชทั้งสามชนิด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า ทั้งหมดจะต้องไม่เป็นพืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม (GMO) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับทุกฝ่าย โดยจะมีการตั้งศูนย์ ONE Stop Service ที่ กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารองค์ความรู้ของพืชทั้งสามชนิดให้กับประชาชน
นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ภายหลังที่ปลดล็อคพืชทั้ง 3 ชนิดไม่ใช่ยาเสพติด มีผลให้ทั้ง 3 ชนิดนี้มาอยู่ในการควบคุมของกรมวิชาการเกษตรเหมือนพืชทั่วไป แต่ยังต้องมีเงื่อนไขบางประการในการควบคุมการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ศัตรูพืช และโรคพืช ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงได้ออกประกาศ 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง พ.ศ. 2565 และ 2. ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กระท่อม พ.ศ. 2565 กำหนดให้ประชาชนสามารถนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของพืชทั้ง 3 ชนิด ได้จากทุกประเทศ
โดยประเทศต้นทางต้องแนบใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phyto Certificate: PC) และใบรับรองว่าไม่ใช่พืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม (GMO) กำกับมาด้วย และเนื่องจากเมล็ดพันธุ์กัญชง กัญชา และกระท่อม เป็นพืชที่มีราคาสูง กรมวิชาการเกษตรจึงจะไม่มีการเก็บเมล็ดตัวอย่างมาสุ่มตรวจอัตราการงอก จำนวน 400 เมล็ด จากแนวปฏิบัติเดิมของพืชชนิดอื่น ซึ่งจะเป็นต้นทุนของทุกภาคส่วน
แต่กรมฯ จะติดตามและตรวจสอบที่แปลงปลูก หรือแหล่งเพาะพันธุ์จำหน่าย ว่าเมล็ดมีการงอกตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตาม พรบ.พันธุ์พืช หากพบว่าไม่เป็นไปตามกล่าวอ้าง หรือพบโรคพืช แมลงศัตรูพืช กรมฯ จะสั่งให้มีการทำลายได้ทันที ทั้งนี้ แปลงที่จะมีการเพาะจำหน่ายจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่
ดังนั้นขอฝากประชาชน ว่ากรณีเป็นผู้นำเข้าหรือประสงค์จะเป็นผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในประเทศ ขอให้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้จำหน่าย หรือผู้รวบรวมที่กรมวิชาการเกษตร ผ่านเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งหากเอกสารขออนุญาตครบตามที่กรมแจ้งไว้ในระบบ
เปิดขั้นตอนการนำเข้าเมล็ดพันธ์ุ